Knowledge - RISC

Knowledge Plants & Biodiversity

Plants & Biodiversity

ค่า pH ในดินสำคัญต่อพืชอย่างไร?​

โดย RISC | 1 วันที่แล้ว

ดินไม่ได้มีหน้าที่แค่พื้นรองรากต้นไม้ แต่เป็นแหล่งชีวิตของต้นไม้ที่เต็มไปด้วยธาตุอาหารสำคัญ หากคุณภาพดินอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ต้นไม้ก็จะเติบโตได้เป็นอย่างดี​โดยทั่วไป ต้นไม้มีความต้องการธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโตทั้งหมด 14 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็น...​ธาตุอาหารหลัก (Macronutrients) มี 6 ชนิด ได้แก่ Nitrogen (N), Phosphorus (P), Potassium (K), Calcium (Ca), Magnesium (Mg) และ Sulfur (S) ทั้งหมดเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต จำเป็นต้องได้รับในปริมาณมาก หากขาดธาตุอาหารหลักเหล่านี้ อาจทำให้พืชมีลักษณะแคระ ไม่โต จนถึงทำให้ต้นเหี่ยว และตายได้​ธาตุอาหารรอง (Micronutrients) มี 8 ชนิด ได้แก่ Iron (Fe), Manganese (Mn), Zinc (Zn), Copper (Cu), Boron (B), Molybdenum (Mo), Nickle (Ni) and Chlorine (Cl) ทั้งหมดเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน​ซึ่งธาตุอาหารที่พืชต้องการเหล่านี้มักมีอยู่ในดิน แต่การที่พืชจะสามารถดูดซึมได้ดีหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ของดิน ที่จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการละลายได้ของธาตุอาหารแต่ละธาตุให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถดูซึมได้​โดยทั่วไปแล้วค่า pH ดินที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 6 – 6.5 หากดินมีค่า pH ที่สูงหรือต่ำไปกว่านี้ ก็จะส่งผลให้ธาตุบางชนิดละลายได้น้อยลง และไม่อยู่ในรูปแบบที่พืชสามารถดูดซึมได้ อย่างเช่น ถ้า pH ต่ำกว่า 6 แร่ธาตุฟอสฟอรัสจะละลายได้น้อยลง และหากดินมีค่าความเป็นกรดมากๆ จะส่งผลให้มีผลผลิตที่ลดลง รากจะสั้น บวม และปลายรากอาจถูกทำลาย​แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ อย่างกรณีดินมีค่าความเป็นกรด เราสามารถแก้ได้ด้วยการใช้วัสดุที่มีปูนขาวผสมอยู่ เช่น ขี้เถ้าของไม้ หินปูนบด ปูนขาว โดโลไมต์ เพื่อลดความเป็นกรด แต่หากดินมีค่าความเป็นเบสมาก เราสามารถแก้ได้ด้วยการใช้อะลูมิเนียมซัลเฟต หรือกำมะถัน เพื่อลดค่าความเป็นด่างให้กับดินได้​เนื้อหาโดย คุณ นครินทร์ ผ่องแผ้ว นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC

24 viewer

ทำไมต้นไม้ในเขตเมืองมักมีดอกน้อยกว่าปกติ

โดย RISC | 4 วันที่แล้ว

ต้นไม้ที่อยู่ในธรรมชาติ มักออกดอกอย่างสวยงามให้เราได้ชมตามฤดูกาล แต่เคยสังเกตมั้ย? ทำไมต้นไม้ในเขตเมืองกลับไม่ค่อยออกดอก หรือมีเห็นได้น้อยกว่าต้นไม้ตามธรรมชาติ​ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับปัจจัยที่เกี่ยวกับการออกดอกของต้นไม้กัน ซึ่งการออกดอกนั้นมีทั้งปัจจัยภายใน เช่น ความต้องการแสงของต้นไม้ (บางชนิดจะออกดอกเมื่อได้รับแสงในวันเป็นระยะเวลาสั้น บางชนิดออกดอกเมื่อได้รับแสงในวันเป็นระยะเวลายาว) หรืออายุของต้นไม้ที่เหมาะสม และปัจจัยภายนอก เช่น แสง น้ำ และการตัดแต่ง​ต้นไม้ในเมืองมักจะถูกปลูกในพื้นที่ที่มีแสงไฟในเวลากลางคืน ทำให้ต้นไม้มีเวลาอยู่ในช่วงความมืดลดลง (อ่านคอนเทนต์เพิ่มเติม https://bit.ly/3rF7P5g) ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าต้นไม้บางชนิดเมื่ออยู่ในระยะเวลากลางคืนที่น้อยหรือไม่ต่อเนื่อง การออกดอกก็จะถูกยับยั้ง ถึงแม้ว่าต้นไม้จะมีอายุที่เหมาะสม หรือต้นไม้บางต้นถูกปลูกใต้ร่มเงาของอาคาร ทำให้ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์น้อยกว่าปกติ​หรือแม้แต่ต้นไม้บางชนิดจะออกดอกในฤดูแล้งที่มีน้ำน้อย เนื่องจากการขาดน้ำกระตุ้นให้ต้นไม้เกิดความเครียด ต้นไม้จึงออกดอกเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์ แต่ต้นไม้ในเมืองมักได้รับการรดน้ำเป็นประจำตลอดทั้งปี​การดูแลให้ต้นไม้ในเมืองออกดอกตามฤดูกาล จึงควรต้องเริ่มจาก "การเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่" การออกแบบพื้นที่ให้มีปริมาณแสงที่เหมาะสมทั้งแสงดวงอาทิตย์และแสงไฟ หรือการดูแลต้นไม้ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ก็จะช่วยกระตุ้นให้ต้นไม้ออกดอกตามฤดูกาลอย่างที่ควรจะเป็น และเพิ่มความสวยงามและคุณค่าให้กับพื้นที่ของเมืองได้​เนื้อหาโดย คุณ สิริวรรณ สุขงาม นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​At gardare. (ม.ป.ป.). ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ประดับ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา:  https://researchex.mju.ac.th/agikl/index.php/knowledge/27-flowers/garden-tree/151-gardentree-4​มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. (ม.ป.ป.). การเกิดดอก. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=5&chap=2&page=t5-2-infodetail12.html​อมรธัช อุนจะนำ. การออกดอกและการติดผลของต้นไม้. พืชสวน. 5(1), 17-22​sd perspectives. (2562, 22 เมษายน). พื้นที่สีเขียว&ต้นไม้ในโครงการอสังหาฯ คืออีกสิ่งช่วยตัดสินใจซื้อ !. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.sdperspectives.com/next-gen/sansiri-tree-story-green-mission/​บ้านและสวน. (2563, 4 เมษายน). ตัดไม้ดอก อย่างไรให้ออกดอกสวย ลำต้นไม่โทรม?. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.baanlaesuan.com/185555/baanlaesuan-school/trim-flower​Park, Y.G., Jeong, B.R. Both the Quality and Positioning of the Night Interruption Light are Important for Flowering and Plant Extension Growth. J Plant Growth Regul 39, 583–593 (2020). https://doi.org/10.1007/s00344-019-10002-5​พจนีย์ แสงมณี. 2563. ผลของการตัดแต่งกิ่งและจัดการธาตุอาหารที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของมะม่วงหิมพานต์. วารสารเกษตร. 36(3), 313-319

46 viewer

รู้หรือไม่? ​ต้นไม้ไม่ได้มีแค่รากแก้วและรากฝอย​

โดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

เมื่อเราพูดถึงรากของต้นไม้ ส่วนใหญ่เราก็จะรู้จักแต่รากแก้ว รากแขนงที่แตกออกจากรากแก้ว และรากฝอยเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว รากของพืชยังมีอีกมากมายหลายชนิด จนบางครั้งเราอาจคิดไม่ถึงว่าที่เคยเห็นนั้นเป็นราก​รากแก้ว (Tap Root) และรากแขนง (Lateral Root) เป็นรากที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งมีหน้าที่หลักในการค้ำจุนพืชให้ยึดติดอยู่ดินหรือวัสดุปลูก ดูดซึมน้ำ และแร่ธาตุจากดินส่งไปยังลำต้นเพื่อใช้ในกระบวนการเจริญเติบโต แต่พืชก็ยังมีรากพิเศษ (Adventitious Root) ที่เป็นรากที่พัฒนาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของพืช โดยรากพิเศษก็มีมากมายหลายชนิด เช่น...​รากค้ำยัน (Prop Root) หรือเสาหลักค้ำยัน (Pillar Root) เป็นรากที่ถูกพัฒนามาจากลำต้นภายใต้สภาวะเครียดที่เกิดจากน้ำท่วม พื้นดินอ่อนนุ่ม โดยมีหน้าที่ในการช่วยค้ำจุนให้ต้นไม้สามารถคงอยู่ได้ มีลักษณะที่เป็นเนื้อไม้งอกออกมาจากลำต้น ตัวอย่างรากชนิดนี้ที่เด่นชัดก็คือ ต้นโกงกางในป่าชายเลนนั่นเอง​รากสะสมอาหาร (Storage Root) เป็นรากที่มีความสามารถเก็บสะสมอาหารไว้ภายในราก และมีรูปร่างที่หลากหลาย เช่น ทรงกรวย (Conical) ทรงกระสวย (Fusiform) ทรงหัวใจ (Napiform) และทรงนิ้วมือ (Tuberous) พืชที่มีรากชนิดนี้เรารู้จักกันเป็นอย่างดีแน่นอน แต่เราอาจไม่รู้ว่ามันคือราก เช่น มันสำปะหลัง แครอท บีทรูท​รากอากาศ (Aerial Root) เป็นรากที่ทำหน้าที่ยึดเกาะตามพื้นที่ต่างๆ เช่น พวกกลุ่มไม้เลื้อย บางชนิดมีคลอโรพลาสที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้เห็นเป็นสีเขียวบริเวณนั้นอย่างชัดเจน เช่น รากกล้วยไม้​รากหายใจ (Air Root) เป็นรากที่มีหน้าที่แลกเปลี่ยน และลำเลียงก๊าซออกซิเจนไปใช้ในรากที่อยู่ภายในดิน เช่น Pneumatophore ของต้นแสมขาวในป่าชายเลน เนื่องจากป่าชายเลนมีน้ำท่วมตลอดเวลา ทำให้รากที่อยู่ใต้ดินขาดออกซิเจน พืชจึงได้พัฒนาตัวเองให้โผล่พ้นดินเพื่อใช้ในการหายใจ​รากปรสิต (Parasitic Root) เป็นรากของพืชปรสิตที่จะคอยชอนไช และแทงลึกเข้าไปในรากของพืชชนิดอื่น เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารหลักให้กับตัวเอง โดยรากปรสิตนี้อาจทำให้ต้นหลัก (Host) เจริญเติบโตได้ช้าลงจนไปถึงเหี่ยวเฉาและตายได้​รากพูพอน (Buttress Root) เป็นรากที่เกิดจากการปรับตัวของต้นไม้บางชนิดที่อยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น บริเวณริมน้ำ หรือพื้นที่ดินตื้น จึงทำให้รากแก้วไม่สามารถชอนไชลงไปในดินได้ จนต้องปรับตัวให้มีลักษณะเป็นแผงใหญ่ยื่นออกนอกลำต้นทางโคน เพื่อให้สามารถพยุงตัวอยู่ได้เนื้อหาโดย คุณ นครินทร์ ผ่องแผ้ว นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC

73 viewer

ต้นไม้เหี่ยวเพราะขาดน้ำ จริงหรือ?

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

หากพูดถึงการปลูกต้นไม้ เชื่อว่าใครหลายคนคงทำได้ไม่ยากเกินไป แต่...การดูแลต้นไม้ให้สุขภาพดี อาจต้องใช้ความรู้ และความเข้าใจมากกว่านั้น​การดูแลต้นไม้จำเป็นต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพต้นไม้ เช่น แสงแดด ดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ และปุ๋ย โดยเฉพาะน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าต้นไม้ขาดน้ำจะส่งผลให้ต้นไม้เฉาตายได้ แต่ในทางกลับกัน การให้น้ำที่มากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ป่วย และตายได้ด้วยเช่นกัน​โดยทั่วไปชั้นดินเขตรากพืชจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ เนื้อดิน ช่องว่างในดินที่มีอากาศ และน้ำ การรดน้ำเป็นประจำโดยไม่สังเกตสภาพแวดล้อมของพื้นที่ จนทำให้มีน้ำสะสมอยู่เต็มช่องว่างในดินเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาต่อต้นไม้ตามมา นั่นก็คือ รากเน่า รากขาดออกซิเจนสำหรับหายใจ และโรคที่มาพร้อมกับความชื้น เช่น โรคจากเชื้อรา เมื่อเชื้อราสามารถเจริญเข้าไปในรากพืชได้ เชื้อราจะลุกลามไปทั่วลำต้น และแพร่ระบาดผ่านอากาศและน้ำ ปัญหาเหล่านี้ทำให้รากดูดซึมน้ำ และสารอาหารได้ลดลง การเติบโตของต้นไม้จึงหยุดชะงัก​การให้น้ำต้นไม้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดูแลต้นไม้ให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรง การตรวจสอบสภาพดิน และความชื้นอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนปริมาณน้ำตามสภาพอากาศ และความต้องการของต้นไม้ จะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการให้น้ำมากเกินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ เนื้อหาโดย คุณ สิริวรรณ สุขงาม นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมส่งเสริมการเษตร. 2558. การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในการปลูกพืชผัก และพืชสมุนไพร. พิมพ์ครั้งที่ 1. https://esc.doae.go.th/vegetable/​กรมส่งเสริมการเษตร. หากพืชได้รับน้ำมากหรือน้อยเกินไป จะเกิดผลเสียอย่างไร. ​ยงยุทธ โอสถสภา. 2565. เข้าใจดิน ดูแลดิน หลังน้ำท่วม. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.doae.go.th/answers/หากพืชได้รับน้ำมากหรือ/​เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประเทศไทย. เชื้อราในพืช ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตจากภาวะพึ่งพาอาศัย ไปจนถึงภาวะปรสิต. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://ngthai.com/science/48232/believe-in-plants/

103 viewer

ต้นไม้กับการพยากรณ์อากาศ ​สัญญาณธรรมชาติที่คุณอาจมองข้าม​

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า หากอยากรู้ว่าต้นไม้มีอายุเท่าไหร่ ให้สังเกตที่วงปีของต้นไม้ แต่...รู้หรือไม่ว่า สีและความกว้างของวงปีนั้น ยังสามารถบอกได้ถึงสภาพอากาศได้อีกด้วย​?ต้นไม้สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมผ่านกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ต้นไม้อยู่รอดในธรรมชาติ โดยการตอบสนองนั้น ก็มีตั้งแต่การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความชื้นและอุณหภูมิ, การปรับตัวตามฤดูกาล เช่น การผลัดใบ, การส่งสัญญาณผ่านราก การส่งกลิ่นไปในอากาศ เมื่อเกิดการถูกรบกวน และการตอบสนองผ่านการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง เมื่อต้องการรองรับแรงลม​สภาพอากาศอย่างฝนตกตลอดไปจนอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลต่อการออกดอก และการเจริญเติบโตของต้นไม้เช่นเดียวกัน ต้นไม้บางชนิดสามารถสะสมพลังงาน เพื่อรอให้ถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก่อนที่จะแพร่พันธุ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ต้นยางนา”​ต้นยางนา ได้รับการขนานนามว่า เป็นต้นไม้ที่มีความสามารถในการพยากรณ์สภาพฝนฟ้าได้ โดยอาศัยการออกดอก และการติดผล ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อม เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน การที่ต้นยางนาออกดอกและผลในปริมาณมาก มักเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฤดูฝนที่อุดมสมบูรณ์ในปีนั้น โดยจากการเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ของการติดดอกออกผลของต้นยางนา และปริมาณน้ำฝนของอาจารย์นพพร นนทภา มาเป็นเวลากว่า 10 ปีนำไปสู่การประมวลผล และจัดเก็บเป็นชุดข้อมูลไว้ใช้ทำนายฝนในต่างสถานที่ได้ และสามารถบอกได้ถึงทิศทางการมาของพายุฝนได้อีกด้วย​ความสามารถเหล่านี้อาจไม่ได้หมายถึงการพยากรณ์อากาศเหมือนมนุษย์ แต่เป็นกลไกการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพของต้นไม้ ซึ่งยิ่งต้นไม้มีอายุมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในพื้นที่นั้นได้แม่นยำมากขึ้น​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISCอ้างอิงข้อมูลจาก โรงเรียนปลูกป่า (Forest Plantation School)​

165 viewer

เคยสงสัยมั้ยว่า....ทำไมแมงมุมไม่ติดใยตัวเอง?

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

อะไรเอ่ย? แข็งแรงกว่าเหล็ก ยืดหยุ่นกว่ายาง​เฉลย ก็คือ...ใยแมงมุม นั่นเอง!!​หลายคนอาจจะไม่คิดว่า คำตอบจะเป็นใยแมงมุมได้ โดยธรรมชาติของเส้นใยที่แมงมุมสร้างขึ้นมานั้นจะมีความแข็งที่เหนียว หากเส้นใยแมงมุมมีขนาดเท่ากับดินสอ จะสามารถหยุดเครื่องบินโบอิ่ง 747 ขณะบินอยู่ได้เลย หรือหากลองนึกถึงตอนสไปเดอร์แมนยิงเส้นใยเวลาต่อสู้กับเหล่าวายร้าย หรือโหนไปมาแล้ว เราคงเห็นว่าเส้นใยของแมงมุมนั้นแข็งแรงมากเลยที่เดียว​นอกจากความแข็งแรงแล้ว เส้นใยของแมงมุมยังมีความมหัศจรรย์มากกว่านี้อีก​เส้นใยแมงมุมที่เหล่าแมงมุมสร้างขึ้นมาเพื่อดักจับสิ่งมิชีวิตนั้น จะมีเส้นใยหลายแบบผสมอยู่ ทั้งเส้นที่มีความเหนียวและไม่มีความเหนียวปะปนกัน การสร้างเส้นใยของแมงมุมนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป ซึ่งแมงมุมจะมีอวัยวะที่เป็นต่อมอยู่บริเวณด้านล่างส่วนท้องเพื่อใช้สำหรับสร้างเส้นใยอยู่ 7 ต่อมด้วยกัน และแต่ละต่อมก็จะมีหน้าที่ผลิตเส้นใยที่หลากหลายต่างกันออกไป​• ต่อม Glandula Aggregate จะสร้างเส้นใยที่มีสารเหนียวคล้ายกาว (Glue Silk) ​• ต่อม Glandula Ampulleceae – major จะสร้างเส้นใยสำหรับรับเเรง เเละเดิน (Walking Thread) มีความแข็งแรงและเหนียวมาก​• ต่อม Glandula Ampulleceae – minor จะสร้างเส้นใยสำหรับเดินชั่วคราวไว้ใช้ขณะกำลังทอใย (Walking Thread)​• ต่อม Glandula Pyrifomes จะสร้างเส้นใยสำหรับเกาะติด​• ต่อม Glandula Anciniformes จะสร้างเส้นใยสำหรับดักจับเหยื่อ (Capture Silk) มีความยืดหยุ่นสูงมาก ​• ต่อม Glandula Tubiliformes จะสร้างเส้นใยสำหรับสร้างรัง หรือ ถุงให้กับไข่และตัวอ่อน​• ต่อม Glandula Corontae จะสร้างเส้นใยที่มีความเหนียวติด ​ด้วยการเป็นผู้สร้างจึงย่อมรู้จักเส้นใยแต่ละเส้นที่ตัวเองสร้างเป็นอย่างดี เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมแมงมุมถึงไม่ติดเส้นใยที่ตัวเองสร้างไว้เลย อีกทั้งปลายขาของแมงมุมยังมีขนขนาดเล็ก และมีตะขอพิเศษ จึงทำให้เดินบนเส้นใยได้อย่างมั่นคงและไม่ติดเมื่อเดินบนเส้นใยที่เหนียวนั่นเอง​นอกจากนั้น ประโยชน์ของใยแมงมุมที่นอกเหนือจากการดักจับแมลง หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เพื่อเป็นอาหารแล้ว ยังมีหน้าที่สำหรับช่วยในการได้ยินโดยการสัมผัสจากการสั่นสะเทือนของเส้นใย ด้วยคุณสมบัติที่มากมายนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักประดิษฐ์ในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน, เข็มขัดนิรภัย หรือแม้แต่ไหมเย็บแผล​เป็นอย่างไรบ้างกับเรื่องราวอันน่าทึ่งของใยแมงมุม สิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับเราในทุกที่ ครั้งต่อไป RISC จะนำเรื่องราวอันน่าทึ่งของสิ่งมีชีวิตตัวไหนมาเล่าสู่กันฟังอีก รอติดตามได้ที่นี่​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Esme Mathis. (2022). Australian geographic. Unspinning the secrets of spider webs. From: https://www.australiangeographic.com.au/news/2024/07/cobra-bite-treatment/ (สืบค้นเมื่อ 1 August 2024)​ภวิกา บุณยพิพัฒน์. วารสารเทคโนโลยีการเกษตร. ใยแมงมุม. From:  http://oservice.skru.ac.th/ebookft/601/chapter_7.pdf (สืบค้นเมื่อ 1 August 2024)​

454 viewer

เธอมากับฝน...ฝนนี้ มาแน่!!

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

“เธอมากับฝน...!!” วันนี้เราไม่ได้มาร้องเพลงดังยุค 2000 แต่...หน้าฝนแบบนี้ จะมีอะไรบ้างที่มากับฝน​แน่นอนว่าประเทศไทยเราได้เข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการไปแล้ว นอกจากจะต้องระวังเรื่องสุขภาพ และการเดินทาง ช่วงหน้าฝนอย่างนี้มักจะมีสิ่งมีชีวิตโผล่มาให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งวันนี้ RISC อยากแนะนำกลุ่มสิ่งมีชีวิต 3 อันดับ เพื่อจะได้ป้องกันเบื้องต้น รวมถึงใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย รู้เค้ารู้เรา จะได้ไม่ทำอันตรายต่อกัน​สิ่งมีชีวิตอันดับแรกที่มักจะพบเจอได้ ก็คือ “งู” นั่นเอง งูมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ ต้นไม้ พื้นที่รก ชื้น หากในบริเวณนั้นมีแหล่งอาหารชั้นดีอย่างหนูอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้งูเข้ามาในพื้นที่ของเรามากขึ้นไปอีก ดังนั้น เราต้องหมั่นรักษาความสะอาดในบ้านไม่ให้มีแหล่งอาหาร หรือแหล่งหลบซ่อนได้ ซึ่งหากพบเห็นงูเข้ามาในบ้านหรือบริเวณบ้านแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นงูอะไร สามารถโทรแจ้ง 199 ให้เข้ามาช่วยเหลือได้เลย​ถัดมาเป็น “แมลงก้นกระดก” เนื่องจากเป็นช่วงที่แมลงก้นกระดกต้องการความชื้นเพื่อขยายพันธุ์ และชอบเข้ามาเล่นแสงไฟในเวลากลางคืน แมลงก้นกระดกเป็นแมลงที่มีสารพิษที่ชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) ก่อให้เกิดความระคายเคือง เมื่อสัมผัสโดนผิวหนังจะเป็นผื่นคันหรืออาจเกิดแผลพุพองได้ ซึ่งเราสามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดยปิดหน้าต่างประตูให้มิดชิด และตรวจสอบบริเวณที่นอนหรือที่นั่งก่อนทุกครั้ง และหากเจอก็ควรเป่าหรือสะบัดออก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง​สุดท้ายคือเหล่าสัตว์สัตว์ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น “ตะขาบ” “แมงป่อง” ส่วนใหญ่มักพบตามพื้นที่มุมอับชื้น ตามกองใบไม้ สัตว์เหล่านี้ทำอันตรายต่อคนโดยตรง พิษต่อทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ส่วน “กิ้งกือ” หรือ ”คางคก” ผิวหนังมีต่อมพิษ หากพลั้งเผลอไปสัมผัส เกิดอาการแพ้นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละคน ในบางรายที่แพ้รุนแรงอาจจะถึงแก่ชีวิตได้เลย​สิ่งสำคัญที่ควรทำในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ก็คือ การดูแลสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน จัดเก็บให้เป็นระเบียบ กำจัดมุมอับที่จะเป็นแหล่งหลบซ่อน ไม่ว่าจะเป็นกองวัสดุ เศษไม้ ใบไม้ รวมทั้งซ่อมแซมจุดแตกร้าว หรือพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของดิน เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านของเรา​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข​

1086 viewer

"รั้วต้นไม้" เป็นมากกว่ารั้ว

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยเจอปัญหาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวในพื้นที่บ้าน ทั้งเสียงรบกวน หรือการที่มีบุคคลภายนอกมองเข้ามา หากจะก่อรั้วสูง ก็ต้องใช้เงินหลายบาท แถมได้ทิวทัศน์รอบๆ บ้านเป็นวิวกำแพงอิฐอีก...แล้วแบบนี้ เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?​ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยนวัตกรรมที่ใกล้ตัวเรามากๆ ใช้งบน้อย ราคาไม่แพง แถมพร้อมมาด้วยความร่มรื่น นั่นก็คือ “รั้วต้นไม้” นั่นเอง​รั้วต้นไม้ เรียกได้ว่าหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่จะช่วยให้บ้านของเราน่าอยู่มากขึ้น จากงานวิจัยพบว่า การปลูกต้นไม้จะให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านกายภาพ ทัศนียภาพ จิตใจ และเศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกต้นไม้ริมรั้วจะช่วยปรับภูมิทัศน์ ทั้งจากคนภายนอกที่มองเข้ามาและจากตัวผู้อยู่อาศัยมองออกไป ต้นไม้จะช่วยพลางสายตา ปกปิดสถานที่ที่ไม่น่าดู ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี โดยต้นไม้ที่มีใบเยอะ ใบหนา ปลูกเป็นแนวกว้าง 15-30 เมตร มีความสูงที่เหมาะสมกับแหล่งกำเนิดเสียง จะสามารถดูดซับเสียงได้มากถึง 5-10 dB อีกทั้งสีสันจากต้นไม้ยังช่วยให้มีชีวิตชีวาแก่คนที่ได้พบเห็นอีกด้วย​สำหรับการเลือกต้นไม้ที่จะใช้ปลูกเป็นรั้วหรือปลูกริมรั้วบ้านนั้น ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มแน่น ใบถี่ และดูแลง่าย โดยจะสามารถแบ่งพรรณไม้ออกเป็น 4 ระดับ คือ...​- ไม้ปิดกั้นและกรอง เป็นพรรณไม้ที่จะนำมาใช้ในการปิดกั้นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ หรือใช้ทำเป็นรั้ว อย่างเช่น ช้างน้าว ตะขบป่า นมแมว โปร่งกิ่ว โมก สีฟันคนทา แก้วแคระ ข่อย ซาฮกเกี้ยน ไทร กาหลง เกล็ดปลาหมอ โคลงเคลง น้ำใจใคร่ ไผ่เพ็ก พลองแก้มอ้น พลองเหมือด พุดทุ่ง พุดน้ำ สนกระ และสนหอม​- ไม้ระดับล่างหรือคลุมดิน ใช้ปลูกเป็นฉากหน้า ทำให้เกิดพื้นที่โล่งด้านบนและเปิดมุมมอง อย่างเช่น กระทือป่า กระเทียมช้าง ข่าลิงขาว เข็มป่า ทองพันดุล และเท้ายายม่อม​- ไม้ประดับแปลงหรือไม้ปลูกเป็นกลุ่มก้อน ใช้เพื่อประดับบ้านเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ดอกหรือไม้ขนาดเล็ก อย่างเช่น กระเจียว ปีกนกแอ่น ว่านจูงนาง สังกรณี สาบแร้งสาบกา และเอื้องหมายนา​- ไม้สร้างจุดเด่น เป็นพรรณไม้ที่มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างเช่น เกล็ดปลาหมอ โคลงเคลง โปร่งกิ่ว ผักปราบนา พุดน้ำ เม่าสร้อย หางหมาจอก และหูลิง​ใครที่สนใจการทำรั้วต้นไม้ ก็ลองเลือกพันธุ์ไม้เหล่านี้ไปลองปลูกดู หลังจากนี้หลายๆ คนคงจะมีรั้วบ้านสวยๆ พร้อมกับการได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น​เนื้อหาโดย คุณ พัชรินทร์ พุ่มแจ้ นักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​กฤษดา ประเสริฐสิทธิ์. ม.ป.ป. ป่าไม้ในเขตเมืองในมุมมองของภูมิสถาปัตย์. แหล่งที่มา: http://forprod.forest.go.th/forprod/techtransfer/document/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%81%E0%B8%A3/%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C.pdf​นิรนาม. ม.ป.ป. ประโยชน์ของต้นไม้.  แหล่งที่มา: http://old-book.ru.ac.th/e-book/a/AT459/at459-1.pdf​เมดไทย. 2563. สมุนไพร. แหล่งที่มา: https://medthai.com/​ศักย์ศรณ์ จันทรบุศย์. 2564. การศึกษาประสิทธิภาพการซับเสียงจากต้นไม้เพื่อลดมลภาวะทางเสียงภายในอาคาร แหล่งที่มา: http://dspace.bu.ac.th/bitstream/123456789/4903/1/Saksorn_Chan.pdf​ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง. 2565. ปลูกต้นไม้ให้เป็นรั้ว. แหล่งที่มา: https://readthecloud.co/best-plants-for-fence-line/​สมชญา ศรีธรรม และ วสา วงศ์สุขแสวง. 2563. การศึกษาพรรณไม้ท้องถิ่นเพื่อใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรมกรณศึกษา: ไม้พุ่มและไม้คลุมดินในป่าจังหวัดสุรินทร์.  วารสารวิชาการ ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 11(1): 163-179.​Tanaka, K., Ikeda, S., Kimura, R. & Simazawa, K. (1979). The function of forests in soundproofing. Bulletin Tottori University Foresta, 11, 77–102.​Cook, D.I. and Van Haverbeke, D.F. (1972). Tree, shrub and landforms for noise control. Journal of soil and water conservation 27, 259-261.​

1587 viewer

เลือกต้นไม้และจัดวางแบบไหนในพื้นที่รอบอาคาร?

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

จากบทความก่อน “ผลสำรวจความคิดเห็นมุมมองต่อต้นไม้รอบอาคารอย่างไร?” (อ่านต่อที่ https://bit.ly/3UpPWTH) เราคงได้เห็นหลากหลายมุมมองทั้งในแง่ดีและผลกระทบที่ได้รับจากการมีต้นไม้รอบๆ อาคารกันมาแล้ว ด้วยการเรียนรู้จากมุมมองเหล่านี้ เราสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ด้วยการจัดวางต้นไม้ให้เหมาะสม​การจัดวางต้นไม้ในรูปแบบที่มีลักษณะสูง-เตี้ย หนา-บางที่ต่างกัน นอกจากจะช่วยในการสร้างร่มเงาและเพื่อความสวยงามแล้ว ยังสามารถช่วยในการควบคุมทิศทางลมที่จะเข้าสู่อาคารได้ อย่างเช่น หากเราปลูกต้นไม้ให้เป็นพุ่มอยู่ด้านนอก ไม้พุ่มจะช่วยทั้งกรองฝุ่นและบังคับทิศทาง ส่วนด้านในเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นโปร่งด้านล่างและเป็นเรือนยอดด้านบน ลมสามารถพัดลอดเข้าสู่อาคารชั้นล่างได้ หรือหากใช้ไม้พุ่มแน่นที่สูงประมาณ 2 เมตรปลูกเป็นแนวจะช่วยบังลมหรือบังคับทิศทางลม และการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่หรือเป็นแผงค่อนข้างสูงในทางทิศตะวันตกยังสามารถช่วยในการป้องกันแสงแดดที่เอียงต่ำ ลดความร้อนในช่วงบ่ายได้อย่างดี​การเลือกชนิดของต้นไม้ในการจัดวาง ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมคุณภาพอากาศโดยรอบอาคารได้อีกด้วย ส่งผลดีต่อผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ โดยเลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละออง โดยเฉพาะต้นที่ใบมีขนบนผิวใบ และเมื่อปลูกต้นไม้นี้ให้เป็นแนว และมีหลายๆ ชั้น ก็จะช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้ดียิ่งขึ้น​พันธุ์ไม้ที่ช่วยดักจับฝุ่นมีทั้งไม้ยืนต้น เช่น คำมอกหลวง และรวงผึ้ง กลุ่มไม้พุ่ม เช่น กรรณิการ์ และโมกหลวง ส่วนกลุ่มไม้เลื้อย เช่น กันภัยมหิดล สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง และพวงคราม ที่สำคัญกลุ่มไม้เลื้อยนี้ยังใช้ในการประดับได้ด้วย จะเห็นได้จากการใช้เป็นซุ้มประตู แต่หากไม่ชอบกลิ่นที่แรงเกินไป อาจจะต้องเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม ส่วนของไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันและลดโอกาสต้นไม้ใหญ่ล้ม ก็ควรเลือกต้นที่มีรากแข็งแรงและไม่ทำลายโครงสร้างอาคาร เช่น กันเกรา และแก้วมุกดา​เราได้พูดถึงประโยชน์ของการปลูกต้นไม้รอบอาคารไปแล้ว เชื่อว่าถึงตรงนี้ทุกคนคงได้เห็นในมุมมองที่ต่างออกไป ว่าเหตุใดเราจึงควรมีต้นไม้ไว้รอบอาคาร รวมทั้งการเลือกพันธุ์ไม้และทำการจัดวางแบบใดถึงจะเหมาะสม RISC จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาปลูกต้นไม้รอบๆ อาคาร โดยอาจเริ่มจากบ้านตนเองหรือปลูกต้นเล็กๆ ในห้องพักก่อน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปด้วยกัน​เนื้อหาโดย คุณ ชนัญญา เกษมปิยารมณ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​บ้านและสวน: https://www.baanlaesuan.com/134892/plant-scoop/dust_prevent​บ้านไอเดีย: https://www.banidea.com/shade-trees-with-non-invasive-root-systems/​หนังสือ: The essential guide to Architecture and Interior designing จาก Instagram : 07sketches​

1559 viewer

ผลการสำรวจความคิดเห็น​ "มุมมองต่อต้นไม้รอบอาคารเป็นอย่างไร?"​

โดย RISC | 11 เดือนที่แล้ว

เหรียญมีสองด้านเสมอ “ต้นไม้” ที่เราเห็นว่าน่าจะมีแต่ด้านดีก็ยังมีสองด้านเช่นกัน เพราะนอกจากจะสร้างคุณประโยชน์ให้เราหลายด้าน ทั้งให้ร่มเงา ความสวยงาม กรองอากาศ ลดอุณหภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่อีกด้านนึงของต้นไม้ก็สามารถส่งผลกระทบต่อเราได้ด้วยเช่นกัน​เราลองมาดูแบบสำรวจความคิดเห็น ประโยชน์และผลกระทบของต้นไม้ที่อยู่รอบๆ อาคาร จากคนหลากหลายอาชีพ ทั้งนักศึกษา วิศวกร สถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ รวมทั้งพนักงานออฟฟิศกัน ว่ามีมุมมองกับต้นไม้กันอย่างไร?​จากผลสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าต้นไม้รอบอาคารมีประโยชน์เพื่อให้ร่มเงา เป็นจุดพักสายตา และช่วยฟอกอากาศ รองลงมาประมาณร้อยละ 60 ให้ความเห็นว่า มีประโยชน์เพื่อความสวยงาม และช่วยให้อุณหภูมิทั้งภายในและภายนอกอาคารลดลง และประมาณร้อยละ 40 เห็นว่า เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กๆ นอกจากนี้ ยังมีความเห็นอื่นๆ อีก เช่น สามารถผลิตอาหารให้รับประทานได้ มีการจัดสวนเป็นงานอดิเรก เพิ่มความรู้สึกปลอดภัยจากการช่วยบังสายตาจากมุมมองภายนอก และช่วยชะลอน้ำฝนป้องกันน้ำท่วมได้​คราวนี้มาดูในส่วนของผลกระทบจากต้นไม้รอบอาคารกัน โดยกว่าร้อยละ 70 เห็นว่า เป็นจุดที่พบสัตว์มีพิษที่เป็นอันตราย รองลงมาประมาณร้อยละ 60 เห็นว่า ได้รับผลกระทบจากใบไม้ที่ร่วงหล่นและกิ่งที่ต้องตัดแต่ง และประมาณร้อยละ 50 เห็นว่า รากของต้นไม้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่ให้ความเห็นว่า ได้รับผลกระทบด้านกลิ่นจากไม้ดอกที่มากเกินไป ทรงพุ่มต้นไม้ที่หนาก็ทำให้เกิดจุดอับสายตา และยังอาจมีกรณีที่ต้นไม้ไม่แข็งแรงเกิดการโค่นล้มทับคนและทรัพย์สินได้​จากแบบสำรวจความคิดเห็น แม้จะมีมุมมองมากมายที่พูดถึงผลกระทบจากการมีต้นไม้รอบอาคาร แต่ผลกระทบเหล่านี้ก็มีทางป้องกันและแก้ไขได้​แนวทางหลัก คือ การเลือกเอาต้นที่เหมาะสมมาปลูกตั้งแต่แรก เช่น หากต้องการหลีกเลี่ยงใบที่ร่วงมาก กลิ่นจากไม้ดอกที่ฉุน และโคนต้นไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงไม้ผลัดใบอย่างจามจุรี (Albzia saman (Jacq.) Merr.), ปีบ (Millingtonia hortensis L. F.) หรือพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris) แล้วเลือกเป็นต้นอื่นแทน อย่างเช่น พุดกุหลาบ (Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. & Schult.), ไทรเกาหลี (Ficus annulata Blume.) หรือคลอเดียร์ (Ficus annulata Blume.) แทน นอกจากนั้นการเลือกต้นไม้ ก็ควรศึกษานิสัยพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เราเลือกให้ดี เพื่อการดูแลและตัดแต่งอย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้สามารถช่วยยืดอายุต้นไม้ และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้​สำหรับบทความต่อไปเราจะมาดูตัวอย่างการปลูกต้นไม้และการจัดวางเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ คอยติดตามกันนะ​เนื้อหาโดย คุณ ชนัญญา เกษมปิยารมณ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC

1046 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน