RISC

เชื้อราทำให้เราป่วยได้อย่างไร (1)

Created By RISC | 4 years ago

Last modified date : 2 years ago

16998 viewer

เชื้อราทำให้เราป่วยได้อย่างไร (1)

 

สวัสดีค่ะ เนื้อหาตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “เชื้อรา” กันนะคะ ยิ่งเฉพาะหลังน้ำท่วมทำให้เรามีโอกาสได้เจอเจ้าเชื้อรากันบ่อยและเยอะจนน่ากลัวเลยนะคะ แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องมีน้ำมาท่วมบ้าน ในบ้านเราก็มีเชื้อรานี้กันอยู่แล้วค่ะ เพียงแต่มากหรือน้อย หรือเป็นชนิดที่เป็นอันตรายต่อเราหรือไม่เท่านั้นเองค่ะ ที่สำคัญมันส่งผลเสียอะไรกับเราบ้าง และจะทำให้บ้านของเราไม่เกิดเชื้อราได้อย่างไร

 

เชื้อรามาจากไหน?

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า “เชื้อรา” มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการรู้ที่มาและการเกิด จะทำให้เราควบคุมให้ “ไม่เกิดเชื้อรา” ได้จากต้นเหตุจริงๆ

เรามาดูกันนะคะ ว่าอะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้ “เกิดเชื้อรา” ได้แก่  

1.      น้ำหรือความชื้น

น้ำ เปรียบเสมือน “อาหาร” มื้อหลักของเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำในรูปของ “ของเหลว” “ไอน้ำ” หรือ “การควบแน่น” น้ำหรือความชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา เมื่อพื้นผิวของวัสดุ (ที่เป็นอาหารของเชื้อรา) มีความชื้นสัมพัทธ์ 90-100% จะเป็นช่วงที่เชื้อราเติบโตได้ดี และช่วงความชื้นสัมพัทธ์ 40-60% จะเป็นช่วงที่เชื้อรามีการเติบโตน้อย นั่นคือ ช่วงเวลาบ่ายๆ ของเมืองไทยเรา (ฝนไม่ตก) และช่วงที่เปิดเครื่องปรับอากาศ

2.      อาหารของเชื้อรา

อาหารสำคัญของเชื้อรา ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่งภายในอาคาร และฝุ่น ซึ่งฝุ่นนี้เองที่เป็นที่อยู่ของเชื้อราบางชนิดได้เป็นอย่างดี เมื่อมีความชื้นสูงเชื้อราจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่มาของกลิ่นอับภายในห้อง นอกจากนั้น เมื่อฝุ่นเกาะตามผิววัสดุต่างๆ แม้วัสดุที่ไม่ดูดซับน้ำ เช่น กระจก พลาสติก ก็จะทำให้เกิดเชื้อราตามผิววัสดุดังกล่าวได้อีกด้วย

3.      อุณหภูมิ

อุณหภูมิ เสมือนเป็น ตัวเร่งให้เชื้อราเจริญเติบโต ซึ่งเชื้อราแต่ละชนิดชอบช่วงอุณหภูมิที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มีช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อราอยู่ที่ 15-30 องศาเซลเซียส[1] แต่ถ้าใช้อุณหภูมิ 60-63 องศาเซลเซียส[2] เป็นระยะเวลา 30 นาที จะสามารถฆ่าเชื้อราได้

สรุปการเกิดเชื้อรา พบว่า ความชื้น มีอิทธิพลต่อการงอกและเติบโต (Germination) ของเชื้อรามากที่สุด รองลงมาคือวัสดุ หรืออาหารของเชื้อรา และสุดท้ายคือ อุณหภูมิ

ดังนั้น วิธีการลดการเกิดเชื้อราภายในบ้านของเรา สามารถทำได้ตั้งแต่การออกแบบบ้าน การก่อสร้างและการใช้งานภายในบ้านที่ไม่เป็นต้นเหตุของการเกิดเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความชื้นที่เข้าสู่บ้านในส่วนต่างๆ จนลดการเกิดแหล่งเพาะพันธ์เชื้อราอันมีผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารได้นั่นเอง

 

เชื้อรามีผลต่อสุขภาพเราจริงเหรอ?

หลายคนคงมีคำถามว่า “ มีเชื้อราในบ้าน...แล้วยังไง? ”

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA)[3] ได้มีการวิจัยและสำรวจ พบว่า ผู้ป่วยโรคหอบหืด 21.8 ล้านคนทั่วประเทศ มี 4.6 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 5 ส่วน ที่ระบุได้ว่า ความชื้นและเชื้อราภายในบ้านเป็นตัวการที่ทำให้เป็นโรคหอบหืด นอกจากนั้น สปอร์และเส้นใยของเชื้อราก็ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ อีกด้วย จากการที่สปอร์เชื้อราเป็นส่วนที่ใช้ในการแพร่พันธุ์ อนุภาคสปอร์จะลอยไปยังที่ต่างๆ ตามอากาศ น้ำ สัตว์เลี้ยง และยังปะปนเข้าสู่ระบบปรับอากาศของบ้านนั่นเอง

สารพิษจากเชื้อราก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุตา ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน อันนำมาซึ่ง โรคอาคารป่วย (Sick Building Syndrome) โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และโรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้  

 

เราคงไม่คิดว่าการนั่งอยู่ในบ้านอันแสนสุขของเรา จะทำให้เราป่วยได้ แต่จากข้อมูลจะเห็นว่า “เชื้อรา” เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย แต่เราสามารถห่างไกลจากเชื้อราได้ด้วยการ “ตัดวงจร” การเกิดเชื้อราทั้ง 3 ส่วนนั้นไม่ให้มาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัสดุ ลดการสะสมของฝุ่น การลดความชื้นภายในบ้านของเรา หรือแม้แต่การควบคุมให้อากาศภายในบ้านของเราอยู่ในช่วงที่ “เชื้อราไม่ชอบ”

เนื้อหาตอนนี้สร้างความเข้าใจการเกิดเชื้อราและผลเสียต่อสุขภาพแล้ว เนื้อหาตอนต่อไปจะเป็นการแนะนำเทคนิคการทำให้บ้านของเรา “ปลอดเชื้อรา” โดยการตัดวงจรของการเกิดเชื้อรา จนสามารถ “ป้องกัน” หรือ “ลด” เชื้อราให้กับบ้านของเราได้ ซึ่งเป็นการลดแนวโน้มความเจ็บป่วยให้กับคนในบ้านของเรานั่นเอง

อ้างอิง

 [1] http://www.wbdg.org/resources/env_iaq.php

[2] Olaf C.G. Adan  and Robert  A. Samson,” Fundamentals of mold growth in indoor environments and strategies for healthy living”,Wageningen Academic Publishers  ,the Netherlands, 2011.

[3] David Mudarri and William J. Fisk,” Public Health and Economic Impact of Dampness and Mold”, in Indoor Air Journal, vol. 17, p 226-235, 2007.

 

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์  คอร์ปอเรชั่น จำกัด

http://www.magnolia.co.th