Smart City for Sustainable Development
Created By RISC | 4 years ago
Last modified date : 2 years ago
จากการวิเคราะห์แนวโน้มของโลก (Global Mega Trends) พบว่า การเจริญเติบโตของประชากรโลก (World Population Growth) การขยายตัวของเขตชุมชนเมือง (Urbanization Expansion) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะการขาดแคลนทรัพยากรอาหารและน้ำ พื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่เกษตรกรรมถูกรุกราน การคุกคามจากภัยพิบัติธรรมชาติมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่มองเห็นถึงอนาคตจะต้องมีการวางกลยุทธ์รองรับ และตัดสินใจเลือกทิศทางการพัฒนา “บ้านหลังเล็ก” ที่ไม่เพียงพึ่งพาอาศัย แต่ยังเยียวยา “บ้านหลังใหญ่” ได้ ก่อให้เกิดสมดุลยภาพระหว่าง สภาพแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
บ้านหลังเล็ก ในที่นี้มิได้หมายความเพียงแค่บ้านเท่านั้น แต่หมายรวมถึงแหล่งพำนักอาศัยและแหล่งอาชีพ ที่เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ จากบ้าน สู่หมู่บ้าน สู่เมือง สู่ประเทศ ไปจนถึงโลกที่เป็นบ้านหลังใหญ่สุดของพวกเรา ปัจจุบันมีหลายหัวเมืองใหญ่ที่มีการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดและได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเข้าสู่การเป็นเมือง Smart City แล้ว ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเพิ่มคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีองค์ประกอบสำคัญคือ ระบบผลิตพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งประสิทธิภาพสูงและสถานีประจุเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ระบบโครงข่ายสาธารณูปโภคอัจฉริยะที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาคารและบ้านอัจฉริยะ และระบบควบคุมจัดการพลังงาน ความปลอดภัย รวมถึงระบบการบำบัดและกำจัดของเสีย ตัวอย่างเมืองที่เริ่มมีการวางแผนพัฒนาเป็น Smart City ได้แก่ San Francisco, Amsterdam, Tokyo, Xinjiang, Seattle, Copenhagen, Stockholm, Vienna, New York และ Santiago เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558) ประเทศในเอเชียหลายประเทศมีเป้าหมายเปิดตัว Smart City อย่างเป็นทางการ ยกตัวอย่างประเทศที่โดดเด่น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน
ประเทศญี่ปุ่นส่ง 4 เมืองต้นแบบ คือ City of Yokohama, Toyota City, Keihanna และ City of Kitakyushu เป็นเมืองนำร่องในการพัฒนาโครงการ Smart Cities อย่างเต็มรูปแบบ โดยเกิดจากความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติและพลังงานสะอาด ผู้ผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตและพัฒนาการก่อสร้างอาคารและบ้านสำเร็จรูป ผู้ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าและสื่อสาร และผู้ให้บริการระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มีเป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้โครงการนี้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เสนอเมือง Songdo IBD (International Business District) ที่มีความยั่งยืนทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า การลงทุน และการเดินทางแห่งใหม่ของโลก ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสนามบินอินชอน จุดเด่นสำคัญคือการสร้างอาคารและสถานที่ซึ่งเป็น Land Mark แห่งใหม่ และการรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยสามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกจุดทุกสถานที่ในชุมชนเมืองด้วยเครือข่ายเดียวกันผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และการจราจร เป็นต้นแบบของ Connected Community เพื่อการใช้ชีวิตอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ล้ำสมัย และมีคุณภาพ
ตัวอย่างสุดท้ายคือ Tianjin Eco-City ในประเทศจีน เป็นโครงการพัฒนาเมืองนิเวศน์แห่งอนาคตที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศสิงคโปร์และจีน มีการสร้างโมเดลของการพัฒนาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับชุมชนทุกขนาด โดยแต่ละชุมชนย่อยจะมีระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น และพื้นที่สีเขียวซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายภายในระยะเดินเท้าและจักรยาน การเดินทางระหว่างชุมชนถูกเชื่อมโยงด้วยระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าแบบรางเบา (Light Rail System) และด้วยข้อจำกัดของสภาพพื้นที่จึงต้องมีการใช้เทคโนโลยีบำบัดและหมุนเวียนทรัพยากรน้ำประสิทธิภาพสูง ร่วมกับการผลิตน้ำประปาด้วยน้ำฝนและน้ำทะเล มีการวางเป้าหมายว่าจะพัฒนาครบทุกภาคส่วนภายในปี พ.ศ. 2558 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2563
Smart City เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเมืองเท่านั้น แต่ละประเทศจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบที่สอดรับตามแนวทางของแต่ละเมือง สอดคล้องกับปัจจัยธรรมชาติและวิถีการดำเนินชีวิต พร้อมด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดแผนและสร้างแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เหมาะสม โดยยึดถือแนวคิดของการพึ่งพาตนเอง การแบ่งปัน และการมีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือเมื่อได้แนวทางแล้วนั้น ทุกฝ่ายต้องมุ่งมั่น เดินหน้าพัฒนา และลงมือทำอย่างจริงจังร่วมกัน
สริธร อมรจารุชิต (Saritorn Amornjaruchit)
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (กลุ่มบริษัท ดีที)