RISC

High Flow Ambulance: ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในรถฉุกเฉิน

เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

932 viewer
จุดเริ่มต้นจากความกังวลว่าบุคคลากรทางการแพทย์จะติดเชื้อ COVID – 19 จากการย้ายผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจและรักษา RISC จึงได้คิดและพัฒนาร่วมกับทีมแพทย์ ศูนย์กู้ชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คิดค้นนวัตกรรม "รถพยาบาลต้นแบบหมุนเวียนอากาศสูง" หรือ "High Flow Ambulance" โดยการนำรถฉุกเฉินที่มีอยู่เดิมปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทำทั้งระบบที่มีราคาสูง ติดระบบเพิ่มให้มีการไหลเวียนของอากาศสูงภายในห้องโดยสาร โดยการพัฒนาระบบการไหลเวียนอากาศสูงในรถฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้หลักการเดียวกันกับ “ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room)” ที่มีความพิเศษคือ... ​
- ระบบดูดอากาศออก เพื่อเพิ่มการไหลเวียนอากาศภายในห้องโดยสารของรถฉุกเฉิน จากการคำนวณสามารถหมุนเวียนอากาศได้สูงสุด มากถึง 20-25 ACH หรือ อากาศภายในรถสามารถหมุนเวียนออกได้ 20-25 เท่าของปริมาตรห้องโดยสาร (กรณีที่ไม่มีการรั่วซึมของอากาศภายในรถ) จนอาจจะมีประสิทธิภาพสูงถึง Negative Pressure ได้​
- ระบบมอเตอร์จะดูดอากาศที่อาจมีเชื้อโรคเจือปนผ่านเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองอนุภาคขนาดเล็ก เพื่อกรองเชื้อไวรัสและปล่อยออกมาเป็นอากาศดีสู่ภายนอก ร่วมกับการควบคุมการไหลเวียนของอากาศให้ไหลทางเดียว ดึงอากาศออกด้านหลังรถฉุกเฉิน จึงสามารถจำกัดการเคลื่อนของเชื้อโรคให้อยู่ในบริเวณที่จำกัดได้​
โดยเบื้องต้นทีมวิจัย RISC อยู่ในระหว่างการพัฒนาและวิจัย "High Flow Ambulance" ร่วมกับทีมแพทย์ ศูนย์กู้ชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยทำการวิจัย เก็บวัดคุณภาพอากาศภายในรถฉุกเฉิน ได้แก่ อุณหภูมิอากาศภายในรถ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้อง ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณสารอินทรีย์ระเหยรวม (TVOC) ทิศทางการไหลของลม และความดันภายในห้องโดยสาร ทั้งหมดเพื่อวัดคุณภาพอากาศภายในรถให้อยู่ในช่วงที่ดีต่อสุขภาวะ ลดแนวโน้มการติดเชื้อทางอากาศ ลดการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และจะนำมาต่อยอด ขยายผลในรถฉุกเฉินที่มีอยู่เดิมต่อไป เพื่อช่วยลดการติดเชื้อระหว่างการขนย้ายผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาต้นทุนที่ต่ำได้ในอนาคต​
​ผู้เขียน/เรียบเรียง: ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย RISC