RISC

กระบวนการ "แหล่งน้ำ" ทำความสะอาดด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

1316 viewer

เมื่อพูดถึง “แหล่งน้ำ” หลายคนคงจะนึกถึง บึง หนอง บ่อ หรือแม้แต่ทะเลสาบเล็กๆ ตามสวนสาธารณะหรือหมู่บ้าน แต่มีใครรู้บ้างว่าประโยชน์ของแหล่งน้ำเหล่านี้มีไว้ทำอะไร?​

โดยหลักๆ แหล่งน้ำจะมีไว้เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้รดน้ำต้นไม้, เป็นพื้นที่ช่วยเก็บกักน้ำฝน เพื่อช่วยบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่เมือง, เป็นที่อยู่อาศัยของพืชน้ำและสัตว์น้ำ, ช่วยลดอุณหภูมิอากาศจากกระบวนการระเหย หรือแม้แต่เป็นพื้นที่กิจกรรมนันทนาการของมนุษย์​

แต่จริงๆ แล้วประโยชน์ของแหล่งน้ำที่นั้นยังมีอีก นั่นก็คือ เป็นแหล่งรองรับน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากเมือง รวมทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้นได้ หรือที่เรียกว่า “การฟอกตัวเองตามธรรมชาติ” (Self-purification)​

โดยทั่วไป น้ำเสียจากแหล่งชุมชนจะมีสารอินทรีย์เป็นสารประกอบหลัก เมื่อไหลเข้ามาในแหล่งน้ำ บ่อน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ (Microorganism) ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กลายเป็นสารอนินทรีย์ หรือเป็นปุ๋ยน้ำดีๆ นี่เอง ซึ่งเราสังเกตได้จากน้ำที่มีสีเขียวของสาหร่าย หรือพืชน้ำที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ สาหร่ายหรือพืชน้ำเหล่านี้จะสังเคราะห์แสงและผลิตออกซิเจนกลับไปให้จุลินทรีย์ เพื่อใช้ในการย่อยสลายสารสกปรก ระบบนี้ของเสียต้องสมดุลกับกระบวนการย่อยสลาย กระบวนการฟอกตัวเองตามธรรมชาติจึงจะสามารถให้บริการประโยชน์แก่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกัน หากแหล่งน้ำไหนได้รับของเสียเกินขีดความสามารถ (Carrying capacity) ในการฟอกตัวเองตามธรรมชาติ สมดุลนี้ก็จะพังลง และทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และมนุษย์ตามมา​

เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​