Knowledge - RISC

จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าเราอยู่แต่ในเมือง ไม่ออกไปเจอธรรมชาติ

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

1195 viewer

จากข้อมูลของ World Bank ได้ระบุเอาไว้ว่า ปัจจุบันคนเราย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้เมืองมีการขยายตัวเพื่อรองรับการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยในปี 2019, 2030 และ 2050 มีแนวโน้มสัดส่วนประชากรอาศัยอยู่ในเมืองสูงถึงร้อยละ 56, 60 และ 75 ตามลำดับ​

แน่นอนว่าคนเราย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเพื่อการทำงานเลี้ยงชีพ นอกจากจะต้องพบเจอกับความกดดันจากการทำงานแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอีกมากที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ น้ำ และเสียง การจราจรที่หนาแน่น การจำกัดให้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอาคาร ความแออัดของประชากรต่อพื้นที่ ซึ่งจากที่กล่าวมา คนเราที่อาศัยอยู่ในเมืองจึงมีความเสี่ยงทางสุขภาพด้านต่างๆ ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases), โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension), โรคเบาหวาน (Diabetes), เพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ (Decrease Pregnancy Outcomes) รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันต่ำลง (Low immunity)​

แล้วเราจะต้องทำอย่างไร? ในเมื่อเรายังจำเป็นต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในเมือง​

มีรายงานของ WHO ที่ระบุไว้ว่า มีวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ โดยการนำตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่สีเขียวนั่นเอง​

โดยพื้นที่ธรรมชาติมีปัจจัย 4 อย่างที่ช่วยให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของเรา คือ...​
• ลดความเครียด (Stress Reduction)​
• เพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ (Enhanced Physical Activity)​
• เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคม (Greater Social Cohesion)​
• เพิ่มการได้รับอากาศที่ดี (Improved Air Quality)​

นอกจากนี้ ก็ยังมีกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด สร้างผ่อนคลายที่หลายคนคงเคยได้ยิน นั่นก็คือ การอาบป่า (Forest Bathing) หรือการที่เราเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ โดยอาจจะเป็นการอยู่นิ่งๆ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรือเดินช้าๆ และโฟกัสกับสิ่งที่อยู่รอบตัวผ่าน 5 ประสาทการรับรู้ ทั้งการมอง การฟัง การได้กลิ่น การสัมผัส และการรับรส (อ่านต่อได้ที่ https://www.risc.in.th/th/knowledge/forest-bathing-healing-from-nature)​

ที่ผ่านมา RISC มีความสนใจที่จะศึกษาและได้ดำเนินงานวิจัยที่ส่งผลต่อความสุขผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยการนำศาสตร์การอาบป่ามาศึกษา สร้างความเข้าใจผ่านงานวิจัย และนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งหวังว่าจะสามารถนำผลการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบพื้นที่สีเขียวที่ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจได้ อีกทั้งยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเราได้มากยิ่งขึ้น​

เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
Hartig, T., Mitchell, R., DE Vries, S. & Frumkin, H. 2014. Nature and Health. Annual Review of Public Health, 35, 207‐228.​
The World Economic Forum. BiodiverCities by 2030: Transforming Cities’ Relationship with Nature, 2022.​
WHO Regional Office for Europe. Urban green spaces and health. 2016.​
World Bank, Urban Development Overview, 2021, ttps://www.worldbank.org/en/topic/urbandevelopment/overview#1.​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน