RISC

"ฉลาม" กับชะตาชีวิตที่มนุษย์มอบให้

เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

1257 viewer

 

"ฉลาม" นักล่าแห่งท้องทะเล ผู้รักษาสมดุลของระบบนิเวศในมหาสมุทรมายาวนานกว่า 400 ล้านปีซึ่งถือกำเนิดมากก่อนยุคไดโนเสาร์ถึง 250 ล้านปี แต่ทุกวันนี้ฉลามกำลังเผชิญกับโชคชะตาที่มนุษย์ผู้เกิดมาทีหลังมอบให้

แต่ละปีมีฉลามทั่วโลกถูกฆ่าอยู่ราวๆ 63-273 ล้านตัว (ข้อมูลจาก WildAid) เพื่อกลายมาเป็นเมนูสุดหรูที่หลายคนรู้จักกันดี นั่นคือ "หูฉลาม" ที่เปรียบเป็นยาอายุวัฒนะ เมนูหูฉลามมักจะถูกสั่งมาเพื่อแสดงความยินดีกับแขกคนสำคัญ หรือในโอกาสที่สำคัญ ตามความเชื่อในอดีตหูฉลามจะถูกปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่จักรพรรดิและชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับหาทานได้ทั่วไป หากใครเคยได้ลองรับประทานจะพบว่าจริงๆ แล้วหูฉลามไม่มีรสชาติอะไรเลย เนื้อสัมผัสเหมือนกระดูกอ่อน รสชาติหลักๆ มาจากซุปที่ปรุงรส ไม่ว่าหูฉลามจะขนาดใด หรือชนิดของฉลาม ก็ไม่ได้มีผลต่อความอร่อยของซุปหูฉลาม เช่นเดียวกับตับห่านและรังนก ​

จากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อทดสอบสารอาหารในหูฉลามกลับพบว่า สารอาหารในหูฉลามมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับรับประทานไข่ไก่ 1 ฟองเท่านั้นครับ (ข้อมูลจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม) และสรรพคุณที่ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยให้อายุยืนยาวก็ไม่เคยปรากฏในตำราแพทย์ หรืองานวิจัยใดๆ มาก่อน แต่ด้วยค่านิยมและความเชื่อที่ส่งต่อกันมาทำให้ความนิยมของหูฉลามไม่ได้ลดน้อยลง...ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะช่วยรักษาชีวิตของฉลาม หยุดส่งเสริม หยุดซื้อหูฉลาม เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนกันเถอะครับ​

ผู้เขียน/เรียบเรียง: กชกร รัตนมา นักวิจัย RISC​
.
.