RISC

ต้นไม้คุยกัน...ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

3218 viewer

 

รู้หรือไม่ ต้นไม้ก็พูดคุยกันได้เหมือนคนและสัตว์นะ ​

ก่อนอื่นเราต้องลบภาพจำ ต้นไม้ยืนคุยกันแบบในการ์ตูนออกไปก่อน เพราะต้นไม้ไม่ได้มีระบบประสาทสัมผัสที่ซับซ้อนเหมือนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ที่สามารถส่งเสียงสื่อสารกันได้โดยตรง แต่ต้นไม้นั้นจะผลิตสารเคมีที่ใช้เป็นสัญญาณออกมามากมายรอบต้นของมัน ซึ่งแต่ละต้นสามารถใช้สารเคมีเหล่านี้ร่วมกันได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาวะเครียด สภาวะคับขันหรือในสภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือ ​

รูปแบบการสื่อสารพูดคุยของต้นไม้จะมีอยู่ 2 แบบ ก็คือ... ​

- การสื่อสารผ่านอากาศ มีจากการศึกษาพบว่า ต้นไม้จะผลิตสารเคมีออกมารอบตัวผ่านทางอากาศ เมื่อใบมีการถูกกัดแทะจากสิ่งมีชีวิต การรับรู้ได้ถึงปัจจัยในสภาพแวดล้อม การรับรู้เมื่อมีการเข้าจู่โจมของเชื้อแบคทีเรีย-ไวรัส การสัมผัส การเป็นแผลจากสัตว์กัดแทะหรือจากการโดนตัดโดยมนุษย์ โดยบางสายพันธุ์สามารถตรวจจับสารเคมีจากต้นอื่นที่ถูกปล่อยออกมาในอากาศได้ และมีการปรับตัว ปรับโครงสร้างการทำงานของระบบภายในต้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างเช่น การผลัดใบ การออกดอกรวมถึงการสุกของผลตามฤดูกาล การสร้างสารที่ใบให้มีรสขมหรือเป็นพิษเพื่อให้ไม่เป็นที่ต้องการของสิ่งมีชีวิต การสร้างหนาม รวมทั้งการสร้างยางออกมา ​

- การสื่อสารผ่านดิน มีจากการค้นพบในศตวรรษที่ 19 โดยนักชีววิทยาชาวเยอรมัน Albert Bernard Frank พบว่าพันธุ์พืชบนโลกมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับเชื้อรา (Mutually-beneficial relationships) มากถึงร้อยละ 90 ซึ่งได้เรียกกลุ่มเชื้อราที่มีปฎิสัมพันธ์กับรากของพืชว่า ไมคอร์ไรซ่า (Mycorrhiza) โดยกลุ่มของเชื้อราไมคอร์ไรซ่ามีส่วนช่วยในการผลิตธาตุอาหารจากดินและส่งต่อให้กับต้นไม้ผ่านทางราก เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลผลิตจากพืช นอกจากแลกเปลี่ยนกันระหว่างพืชและไมคอร์ไรซ่าแล้ว ไมคอร์ไรซ่ายังช่วยสร้างโครงข่ายใต้ดินให้กับต้นอื่นๆ ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ เพื่อช่วยส่งต่อสารอาหารให้กับเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงต้นไม้ชนิดอื่นที่อ่อนแอกว่า ทำให้เกิดสังคมป่าที่แข็งแรง และยังช่วยให้พืชมีการสร้างภูมิต้านทานโรคได้อีกด้วย ​

การที่ต้นไม้ไม่เคยพูดออกมาใครให้ได้ยิน ไม่ได้หมายความว่าต้นไม้เจ็บไม่เป็นหรือไม่มีความรู้สึก แต่หากลองมองวิธีการแสดงออกของต้นไม้ในแต่ละชนิด การที่เค้ามีหนาม มียาง หรือมีดอกที่สวยงาม นั้นก็เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป ซึ่งไม่ต่างจากสัตว์หรือมนุษย์เลย ​

เนื้อหาโดย กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​Simard SW, KJ Beiler, MA Bingham, JR Deslippe, LJ Philip, FP Teste. 2012. Mycorrhizal networks: Mechanisms, ecolo-gy and modelling. Fungal Biology Reviews 26(1): 39–60. ​
Goni, P. Lopez, P. Sanchez, C., Gomez-Lus, R., Beoerril, R. and Nerine, C. (2009). Antimicrobial activity in the vapour phase of a combination of cinnamon and clove essential oils. Food Chemistry. 116(4): 982-989.