Knowledge - RISC

"ต้นไม้" เครื่องกรองฝุ่นที่มีชีวิต

เขียนบทความโดย RISC | 11 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 11 เดือนที่แล้ว

1467 viewer

ฤดูฝุ่นกลับมา หลายคนคงเริ่มเปิดเครื่องฟอกอากาศที่บ้าน หรือหาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ ยิ่งฝุ่น PM2.5 เยอะแบบนี้ เครื่องฟอกอากาศก็คงทำงานหนักอยู่ไม่ใช่น้อย หรือบางเครื่องอาจจะช่วยกรองแทบไม่ไหว​

จริงๆ แล้ว หากลองนึกดูดีๆ เราทุกคนมีเครื่องฟอกอากาศที่อยู่ใกล้ตัวและมีราคาถูกอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เรามักจะมองข้ามกัน นั่นก็คือ “ต้นไม้” เครื่องกรองฝุ่นที่มีชีวิตนั่นเอง​

ต้นไม้ที่ทุกคนเห็นอยู่ทั่วไป หลายๆ คนคงอาจจะพอทราบอยู่แล้วว่า ต้นไม้นั้นมีประโยชน์มากมายกับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ของโลก เป็นแหล่งอาหาร ที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือแม้แต่เป็นตัวช่วยกรองฝุ่นให้กับเรา​

จากงานวิจัยพบว่า ต้นไม้สามารถดักจับฝุ่นละออง ผ่านทางใบและเปลือกหรือลำต้น ซึ่งสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ถึง 10-50% และยังช่วยทำให้อุณหภูมิลดลง 0.4-3 องศาเซลเซียส โดยฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศจะถูกยึดเกาะไว้ที่ใบของพืชในชั้นคิวติเคิลหรือเยื่อบุผิวนอกที่มีสารคล้ายขี้ผึ้งห่อหุ้มอยู่บางๆ (Epicuticular wax) และมีเส้นขน (Trichome) ที่ปกคลุมบนผิว โดยฝุ่นเหล่านี้เมื่อถูกน้ำฝนหรือการรดน้ำใส่ก็จะถูกชะล้างออกแล้วไหลลงสู่พื้นดินหรือท่อระบายน้ำต่อไป นอกจากนี้ การสังเคราะห์แสงของพืช (Photosynthesis) จะช่วยดูดฝุ่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซพิษต่างๆ เข้าไป แล้วปล่อยก๊าซออกซิเจนและไอน้ำออกมา จึงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ต้นไม้จึงเปรียบเหมือนกับเครื่องกรองและเครื่องปรับอากาศที่มีชีวิตนั่นเอง​

ส่วนลักษณะของต้นไม้ที่จะสามารถช่วยกรองฝุ่นได้นั้นจะต้องมีลักษณะที่มีเรือนยอดหนาแน่น มีกิ่งก้านจำนวนมาก มีผิวใบที่เรียบและหนา ทนทานต่อมลพิษได้ดี มากไปกว่านั้นการปลูกต้นไม้หลายระดับชั้น เช่น ไม้คลุมดิน ไม้พุ่ม และไม้ต้น จะยิ่งช่วยให้มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นได้สูงขึ้น​

เรามาลองดูตัวอย่างการปลูกต้นไม้ในแต่ละพื้นที่กัน​

หากต้องการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ร่มรำไร ควรจะเลือกปลูกต้นข่อย แก้ว ไทรเกาหลี ถ้าปลูกในพื้นที่โล่งควรเลือกปลูกต้น กรรณิการ์ หางนกยูงฝรั่ง ทองกวาว สะเดา นนทรี ส่วนกรณีที่ต้องการปลูกบนทางเท้าสามารถเลือกปลูกต้นสนทะเล รวงผึ้ง มะกล่ำต้น สำหรับคนที่ชอบการตกแต่ง ปลูกไม้ต้นขนาดเล็กในมุมห้อง สามารถปลูกต้นพลูด่าง ลิ้นมังกร เศรษฐีเรือนใน หรือไทรใบสัก​

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หลายๆ คนคงจะได้เห็นถึงความสามรถในการกรองฝุ่นของต้นไม้ไปบ้างแล้ว หวังว่าจะได้ไอเดียกลับไปสร้างเครื่องกรองฝุ่นที่มีชีวิตไว้ใช้งานบริเวณบ้านของเรากันนะ​

เนื้อหาโดย คุณ พัชรินทร์ พุ่มแจ้ นิสิตฝึกงาน ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก​
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  2563.  ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังทองกราฟฟิคอาร์ต, กรุงเทพ.​
พาสุนี สุนากร, องอาจ ถาพรภาษี และพัชริยา บุญกอแก้ว.  2559.  การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการจับฝุ่นละอองของพรรณไม้เลื้อย.  วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15(2): 175-186.​
มานพ ผู้พัฒน์และ ราชันย์ ภู่มา. 2562. พรรณไม้ที่เหมาะสมต่อการลดฝุ่น และมลพิษในอากาศเขตเมือง.​
เอก เจริญศิลป์ และนภัสวัลย์ เกิดนรินทร์.  2563.  ศึกษาการใช้งานพันธุ์ไม้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศเพื่อใช้ในโครงการคอนโดรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมือง, 510-521. งานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต. มหาวิทยาลัยรังสิต, ปทุมทานี.​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน