Knowledge - RISC

"บ้านนกเทียม" ทางรอดของนกในเขตเมือง

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

1513 viewer

เมืองที่เติบโตขึ้น อาจส่งผลดีในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บางครั้งอาจจะไม่ส่งผลที่ดีขนาดนั้น โดยเฉพาะเมืองที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น อย่าง “กรุงเทพมหานคร”​

ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองจากฐานข้อมูลและระบบติดตามผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ พบว่า ในรูปแบบสวนสาธารณะหรือสวนหย่อม มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนคิดเป็น 7.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์ของ WHO ได้กำหนดไว้ให้อยู่ที่ 9-15 ตารางเมตรต่อคน และที่น่าห่วงกว่าก็คือ พื้นที่สีเขียวเหล่านี้กลับมีสัดส่วนของต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีโพรงอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เพียงพอกับสิ่งมีชีวิตในกลุ่มที่ต้องอาศัยในโพรงรัง​

การสร้าง "บ้านนกเทียม" จึงเป็นทางออกที่จะสามารถช่วย "เพิ่มอัตราการทำรังวางไข่" ของนกในเขตเมืองได้มากขึ้น และลดโอกาสสูญพันธุ์ในพื้นที่ที่ขาดแคลนโพรงรังตามธรรมชาติได้อีกด้วย​

บ้านนกเทียม หรือ Bird Nest Box เป็นบ้านที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนการขาดแคลนโพรงรังในธรรมชาติ โดยทั่วไปต้นไม้ในธรรมชาติจะมีการเกิดโพรงขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหักโค่นของกิ่ง การเกิดโรคจนทำให้เกิดโพรง ไปจนถึงการเกิดโพรงโดยสัตว์ในกลุ่มที่สามารถสร้างโพรงรังเองได้ ซึ่งโพรงเหล่านี้ในธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น นก กระรอก หรือผึ้ง​

การติดตั้งบ้านนกเทียมนั้น ต้องมีการเลือกให้เหมาะกับชนิดพันธุ์ของนก นกที่จะมีโอกาสเข้ามาใช้จะเป็นกลุ่มนกที่ทำรังในโพรงไม้เท่านั้น อย่างเช่น กลุ่มนกแก้ว นกเค้า นกแสก ซึ่งขนาดของบ้านนกเทียม แบ่งออกเป็น 2 ขนาด คือ​
- บ้านขนาดกลางสำหรับกลุ่มนกแก้วและนกเค้า โดยขนาดทางเข้าเป็นรูกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว​
- บ้านขนาดใหญ่สำหรับนกแสก โดยขนาดทางเข้าเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว​

การติดตั้งจะติดบนต้นไม้ เสา หรือผนังอาคาร ที่ความสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 3 เมตร โดยหันปากโพรงหรือทางเข้าบ้านนกเทียมไปในทิศเหนือ หรือทิศที่ไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง และควรติดตั้งบ้านนกห่างจากจุดที่มีกิจกรรมของมนุษย์อย่างน้อย 20-30 เมตร เพื่อป้องกันการรบกวนการทำรังวางไข่ของนก​

หากใครสนใจเรื่องการติดตั้งบ้านนกเทียม สามารถติดต่อมาพูดคุยกันได้ที่ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เพราะ RISC เชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถช่วยกันสร้างเมืองที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและอยู่ร่วมกันกับทุกชีวิตได้อย่างยั่งยืน​

เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน