RISC

"ป่าไม้โลก" กับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

8282 viewer

จากบทความก่อนหน้านี้ (https://bit.ly/3qqPepV) เราคงได้เห็นกันแล้วว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณร้อยละ 31-32 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่สำหรับบทความคราวนี้ เรามาลองดูข้อมูลในระดับโลกกัน​

จากข้อมูลในปี 2020 โลกของเรามีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 40 ล้านตารางกิโลเมตร (ประมาณ 4 เท่าของประเทศจีน) หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของพื้นที่ผิวดินของโลก โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติร้อยละ 93 และพื้นที่ป่าปลูกร้อยละ 7 แต่เมื่อมาพิจารณาประเทศในอาเซียนที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด เราจะพบว่า 5 อันดับแรก คือ​

- ประเทศลาว มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 82.1% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 27,527 ตางรางเมตรต่อคน​
- ประเทศบรูไน มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 72.1% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 8,952 ตางรางเมตรต่อคน ​
- ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 67.6% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 7,145 ตางรางเมตรต่อคน ​
- ประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 52.9% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 5,748 ตางรางเมตรต่อคน ​
- ประเทศอินโดนีเซีย มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 49.8% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 3,387 ตางรางเมตรต่อคน​

ส่วนประเทศไทยเรานั้นอยู่อันดับที่ 8 มีพื้นที่ป่าเพียง 32.2% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 2,378 ตางรางเมตรต่อคน​

คราวนี้ เราลองมาดูข้อมูลตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (1990-2020) บ้าง และจากข้อมูลก็แสดงให้เห็นว่า โลกของเรายังคงมีพื้นที่ป่าลดลงเหมือนเดิม และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงระหว่างปี 1990-2000 2000-2010 และ 2010-2020 พบว่าโลกของเรามีพื้นที่ป่าไม้ลดลง 78,000 52,000 และ 47,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี ซึ่งยังถือว่ามีสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง เพราะจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าโลกมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงก็จริง แต่แน้วโน้มการลดก็อยู่ในอัตราที่ลดลงด้วยเช่นกัน​

จากสถานการณ์ธรรมชาติต่างๆ ของโลกที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกยอมรับกันแล้วว่าทรัพยากรป่าไม้มีความสำคัญต่อมนุษยชาติขนาดไหน เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฏจักรน้ำ พื้นที่ดูดซับคาร์บอน และอื่นๆ อีกมากมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งโลกต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น สำหรับในประเทศไทยก็มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ (จากเดิมที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 31 ในปัจจุบัน) นับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และคนในประเทศ ที่จะช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ขึ้นมาให้ได้ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้​

เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2564. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ.2564.​
United Nations Department of Economic and Social Affairs, United Nations Forum on Forests Secretariat (2021). The Global Forest Goals Report 2021​
FAO. 2020. Global Forest Resources Assessment 2020​