Knowledge - RISC

ฝนหนึ่งห่า...นั้นมีมากขนาดไหน?

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

7613 viewer

 

เคยสงสัยกันมั้ยครับ เวลาเราดูข่าวพยากรณ์อากาศ เคยได้ยินคำว่า "น้ำท่วมเพราะมีฝนตกหนักกว่า 100 มิลลิเมตร หรือมีฝนตกหนักสุดในรอบ 10 ปี" แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่า คนสมัยก่อนใช้เครื่องมืออะไรวัดน้ำฝน? แล้วฝนหนึ่งห่า ที่เราเคยได้ยิน มันมีปริมาณเท่าไหร่?​

​เมื่อพูดถึงการวัดน้ำฝนที่มีมาตรฐาน คงต้องนึกถึงอุปกรณ์ที่เก็บน้ำได้ มีรูปทรงและขนาดที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถวัดน้ำฝนได้อย่างเที่ยงตรง (precision) อย่างในสมัยก่อน ครั้นจะใช้กระบอกไม้ไผ่ แต่ละที่ก็มีขนาดไม่เท่ากันและยังผุพังได้ง่าย หรือถ้าใช้หม้อเครื่องปั้นดินเผาก็อาจไม่เหมือนกันในแต่ละท้องถิ่น แต่สิ่งหนึ่งที่มีความแข็งแรง รูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน และมีใช้อย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ นั่นก็คือ “บาตรพระ” ​

จากจดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงอธิบายไว้ว่า “ฝนตกห่าหนึ่ง คือฝนที่ตกเต็มบาตรพระ” หรือเท่ากับฝนตก 50 นิ้ว (350 เซนต์) (หน่วยโบราณ) ซึ่งทางผู้เขียนได้ทดลองวัดน้ำฝนจากบาตรพระพบว่า เมื่อน้ำฝนเต็มบาตรจะมีค่าอยู่ในช่วง 167-178 มิลลิเมตร การวัดน้ำฝนด้วยเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นนี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ใช้สำหรับเตือนภัยน้ำท่วมได้ เพราะการเก็บบันทึกข้อมูลน้ำฝนและเหตุการณ์น้ำท่วม ก็สามารถบอกได้ว่าที่ระดับน้ำฝนเท่าไหร่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ใช้แจ้งเตือนชาวบ้านให้เตรียมความพร้อมได้ ​

เครื่องมือวัดน้ำฝน ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากบาตรพระมาเป็นกระบอกวัดน้ำฝนมาตรฐานที่ใช้คนวัดและจดบันทึกรายวัน จนมาเป็นเครื่องมือวัดอัตโนมัติเป็นรายชั่วโมง และพัฒนามาเป็นระบบเรดาร์ที่สามารถบอกแจ้งข้อมูลแบบ real time ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่ามีฝนตกบริเวณไหน กำลังจะเคลื่อนที่ไปไหน ซึ่งมนุษย์ก็ยังพยายามพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ที่จะสร้างเครื่องมือวัดและทำนายน้ำฝนล่วงหน้าให้มีความแม่นยำ (accuracy) มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำระบบแจ้งเตือนน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้จัดการทรัพยากรน้ำได้คุ้มค่ามากขึ้น ​

ผู้เขียน/เรียบเรียง: ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC​

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ปรีดี พิศภูมิวิถี. 2560. จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน: องค์ความรู้ด้านอุทกศาสตร์. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ, ปีที่ 26, ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2562).​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน