Knowledge - RISC

ฝุ่นเยอะแบบนี้ เลือกความละเอียดของไส้กรองอากาศอย่างไรดี?

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

1579 viewer

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังด้านมลพิษทางอากาศที่จะเวียนมาให้พบปะเป็นประจำทุกปี นั่นก็เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่นนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอเสียจากการจราจรและอุตสาหกรรม การเผาวัสดุทางการเกษตร รวมถึงฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ในช่วงที่สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ หรือช่วงฤดูหนาว ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศจึงสูงขึ้นมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ​

ในช่วงฤดูฝุ่น PM2.5 แบบนี้ หากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมภายนอก จึงควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ซึ่งหน้ากากอนามัยนั้นต้องมีคุณสมบัติที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนได้ อย่างหน้ากากที่ได้มาตรฐาน N95 อ้างอิงจากมาตรฐาน The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) ของสหรัฐอเมริกา โดยตัว N ย่อมาจาก Non-resistant to Oil เป็นแผ่นกรองที่ไม่ทนต่อน้ำมัน มีคุณสมบัติกรองอนุภาค 0.3 ไมครอน ได้ไม่ต่ำกว่า 95%​

มีคำถามตามมาว่า ถ้าเวลาที่เราอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดและเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ เราปลอดภัยต่อ PM2.5 แล้วหรือยัง?​

จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับรอยต่อรอยรั่วซึมของอาคารนั้นๆ แต่...ยิ่งมิดชิดมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเกิดการสะสมของมลพิษอื่นๆ ที่เกิดจากในอาคารเองมากขึ้นเช่นกัน หากไม่มีการระบายอากาศที่ดี เช่น CO2 ที่มาจากการหายใจของมนุษย์ หรือแม้แต่สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่อาจปลดปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน น้ำหอม เฟอร์นิเจอร์ หรือวัสดุอาคาร มลพิษเหล่านี้หากสะสมจนสูงเกินมาตรฐานก็ส่งผลต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัยได้อีกเช่นกัน​

สำหรับแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับ PM2.5 หากเราใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร ก็คือ การใช้ระบบ Fresh Air Unit (FAU) บางครั้งถูกเรียกว่า Outdoor Air Unit (OAU) หรือระบบแลกเปลี่ยนอากาศที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน Energy Recovery Ventilator (ERV) เป็นการถ่ายเทนำอากาศภายนอกเข้ามาระบายมลพิษภายในอาคาร แต่ต้องมีการใช้แผ่นกรอง (Filter) เพื่อกรองไม่ให้ PM2.5 เข้ามาในอาคารด้วย ​

สำหรับการเลือก Filter หรือแผ่นกรองอากาศมีหลายชนิดตามความต้องการว่าจะกรองมลพิษชนิดใด ซึ่งแผ่นกรองฝุ่นก็มีมาตรฐานแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะและประสิทธิภาพการกรองต่อขนาดของฝุ่น โดยบางผู้ผลิตก็อ้างอิงตามมาตรฐาน ASHRAE 52.2-1999 โดย ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers) เป็นสมาคมด้านวิศวกรรมปรับอากาศและทำความเย็นของสหรัฐอเมริกา จะแบ่งระดับการกรองเป็น MERV (Minimum Efficiency Reporting Value) มีระดับตั้งแต่ MERV1- MERV16​

จากข้อมูลในตารางด้านล่างจะเห็นว่า หากจะเลือก Filter สำหรับกรองฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนให้มีประสิทธิภาพนั้นก็ควรเลือก Filter ระดับ MERV 13 ขึ้นไป ซึ่งความสามารถในการกรองจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ MERV ที่สูงขึ้น​



บางผู้ผลิตก็อ้างอิงตามมาตรฐาน EN779:2012 หรือก็คือ European Standard ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2012 มาตรฐานยุโรปจะจัดประเภทแผ่นกรองอากาศออกเป็นชนิดกรองหยาบและกรองละเอียด โดยฟิลเตอร์เกรด G1-G4 หรือกรองหยาบจะใช้ค่าน้ำหนักของฝุ่นที่แผ่นกรองอากาศสามารถกักเก็บไว้ได้เป็นตัวจำแนก และแผ่นกรองละเอียดในเกรด M5-F9 จะวัดจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นที่ขนาด 0.4 ไมครอน หากเปรียบเทียบกับแผ่นกรองที่ค่า MERV 13 ขึ้นไปเพื่อใช้ในการกรอง PM2.5 ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี ควรเลือกใช้แผ่นกรองในระดับ F7 ขึ้นไปดังตารางด้านล่าง​



พอเรารู้ระดับการกรองฝุ่นแล้ว เวลาไปเลือกซื้อเราก็เลือกตามความเหมาะสมที่เราต้องการกรอง เพื่อที่จะได้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่ผู้ใช้งานอาคารต่อไป​

เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน