ฝุ่น! ส่งผลต่อพืชมากกว่าที่เราคิด
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
นอกจากต้นไม้ตามริมถนน หรือสวนสาธารณะ เราต้องยอมรับว่า ความนิยมปลูกต้นไม้ในอาคารกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เพราะ ต้นไม้ถูกมองว่าเป็นของประดับเพื่อความสวยงามไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงต้นไม้ได้สร้างประโยชน์ให้เราได้มากกว่านั้น
พืชหรือต้นไม้แต่ละชนิด จะเจริญเติบโตได้ดีในระบบนิเวศที่เหมาะสม แตกต่างกันไปตามธรรมชาติ การนำต้นไม้มาปลูกในอาคาร จึงทำให้ต้นไม้ได้มาอยู่ในพื้นที่ที่เปลี่ยนไปจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยอยู่ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากไปกว่านั้น พื้นที่เมืองยังมีฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ไปเกาะตามใบพืช ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่เราเท่านั้น แต่ต้นไม้ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นต้นไม้ที่ปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ไม่ค่อยพบเห็นฝุ่นเกาะตามใบ หรือถ้ามีก็จะน้อย นั่นก็เพราะฝุ่นบางส่วนถูกชะล้างไปพร้อมกับน้ำฝนที่ตกลงมา แต่สำหรับต้นไม้ที่ถูกนำมาปลูกในอาคาร (Indoor) หรือแม้แต่พื้นที่กึ่งภายนอกอาคาร (Semi-Outdoor) จะไม่โดนน้ำฝนโดยตรง ทำให้ไม่สามารถชะล้างฝุ่นละอองที่มาเกาะอยู่บริเวณใบได้
มีงานวิจัยรองรับแล้วว่า เม็ดฝุ่นที่เกาะตามใบจะไปอุดปากใบพืช (Stoma) ซึ่งจะขัดขวางกระบวนการหายใจ คายน้ำ หรือการแลกเปลี่ยนแก๊ส รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) อีกด้วย ยิ่งมีฝุ่นเกาะบนใบมากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงทำได้ไม่ดี ต้นไม้จะดูดน้ำมาใช้ได้น้อยลง ส่งผลต่อสภาวะขาดน้ำ รวมไปถึงแสดงอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
อีกหนึ่งเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเวลาทำความสะอาดใบไม้ที่มีฝุ่นเกาะ นั่นก็คือ การฉีดน้ำล้างใบ หรือนำผ้าเปียกมาเช็ดใบ วิธีนี้อาจเป็นการทำร้ายต้นไม้ได้เช่นกัน เพราะความชื้นที่ค้างอยู่บนใบจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากภายในอาคารจะมีความชื้นสูง ไม่มีแสงแดดช่วยในการทำลายเชื้อรา และลดความชื้นบนผิวใบ เหมือนต้นไม้ที่อยู่นอกอาคาร จึงไม่ควรที่จะทำให้ใบเกิดความชื้นเพิ่มเติม
หากพบฝุ่นเกาะใบต้นไม้ในอาคาร ควรใช้เพียงไม้ปัดฝุ่น ปัดเบาๆ ไม่ควรปัดแรง เพราะจะทำให้พืชช้ำ แต่ถ้าจะใช้ผ้าเปียกเช็ดทำความสะอาดใบ ควรใช้ผ้าแห้งเช็ดตามให้ใบแห้งสนิท เพื่อช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่กึ่งภายนอกอาคาร เราสามารถฉีดน้ำล้างใบหรือใช้ผ้าเปียกมาเช็ดทำความสะอาดใบได้
จะเห็นได้ว่า แม้แต่ต้นไม้ก็ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่น เราจึงไม่ควรมองข้าม ตลอดจนการดูแลอย่างเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของเหล่าต้นไม้ภายในอาคารที่พวกเรากำลังดูแลอยู่ และยังนับเป็นการพัฒนาอีกหนึ่งขั้นของการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และพืชอย่างแท้จริง
เนื้อหาโดย คุณ ธีรเจต เอี่ยมพันธ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Agnes van den berg and Magdalena Van den Berg. 2015. Health benefits of plants and green space: Establishing the evidence base. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://www.researchgate.net/publication/282426219_Health_benefits_of_plants_and_green_space_Establishing_the_evidence_base
Shamaila Zia-Khan et al., 2015. Effect of Dust Deposition on Stomatal Conductance and Leaf Temperature of Cotton in Northwest China. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://www.mdpi.com/2073-4441/7/1/116#:~:text=Leaves%20covered%20with%20dust%20receive,plant%20biomass%20formation%20and%20yield.
A. Moradi et al., 2017. Effects of dust on forest tree health in Zagros oak forests. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://www.researchgate.net/publication/320308250_Effects_of_dust_on_forest_tree_health_in_Zagros_oak_forests
University of Georgia Extension. (unknown). Growing Indoor Plants with Success. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://extension.uga.edu/publications/detail.html?number=B1318&title=growing-indoor-plants-with-success