"มด" นักพยากรณ์ตัวจิ๋ว
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
โบราณเคยว่าไว้ว่า เห็นมดเดินขึ้นที่สูงเมื่อไหร่ แสดงว่าฝนกำลังจะตก
แต่เคยสงสัยกันมั้ย? ว่าทำไมก่อนฝนตก เราจะต้องเห็นมดเดินแถวกันขึ้นที่สูงหรือขนตัวอ่อนออกจากรัง วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกัน...
งั้นก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับมดกันก่อนดีกว่า
“มด” เป็นสัตว์ในกลุ่มแมลง ที่มีวิวัฒนาการอยู่บนโลกนี้มาอย่างยาวนานกว่า 10 ล้านปี มดมีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ดี ชื่นชอบบริเวณที่มีความเย็นและชื้นที่พอเหมาะ จากการสำรวจมดในประเทศไทยพบว่า มีจำนวนประมาณ 500 ชนิด ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนทั้งหมดในโลกแล้ว มดมีจำนวนมากถึง 15,000 ชนิด และอย่างที่หลายคนทราบกันดี นั่นก็คือมดมีการอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ 100 - 10,000 ตัว มีการทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันตามแต่ละประเภทของมด โดยประเภทของมดสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่
• มดนางพญา เปรียบได้กับหัวหน้าของทีม มีหน้าที่ผลิตประชากรให้เหมาะสมกับที่อยู่ ขนาดของรัง และฤดูกาล ซึ่งมดนางพญาจะมีหน้าที่วางไข่เท่านั้น จากการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว จะสามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี
• มดเพศเมีย ลักษณะเหมือนมดนางพญาแต่มีปีก เปรียบเสมือนผู้ช่วยของหัวหน้า และในอนาคตจะสามารถเติบโตเป็นมดนางพญาได้ โดยได้รับการคัดเลือก และเลี้ยงดูให้เติบโตโดยมดงาน
• มดงาน เป็นมดตัวเมียขนาดเล็ก ไม่มีปีก ไม่มีหน้าที่วางไข่ มีหน้าที่คอยหาอาหาร สะสมเสบียงให้กับประชากรมดทั้งหมดในรัง ดูแลตัวอ่อน ไข่ ตลอดไปจนถึงรัง และยังคอยช่วยป้องกันศัตรู
• มดเพศผู้ เป็นมดที่มีหน้าที่เพียงผสมพันธุ์กับมดนางพญาและตายไป
เราจะเห็นว่ามดนั้นมีการแบ่งการทำงานกันอย่างชัดเจนในแต่ละประเภทของมด ซึ่งนอกจากนี้ยังมีความสามารถอีกอย่างของมดที่น่าสนใจ คือ เรื่องของการสื่อสาร
มดมีการสื่อสารกันผ่านสารที่เรียกว่า “ฟีโรโมน” โดยการรับรู้ข้อความที่ส่งถึงกันนั้น มดจะใช้ขนนับพันบริเวณหนวดและขาคู่หน้าในการรับรู้ข้อความที่ส่งถึงกัน ซึ่งฟีโรโมนของมดนั้นมีหลากหลายข้อมูลที่ส่งออกไป ไม่ว่าจะเป็น การเตือนภัย การนำทาง การหลบหนีศัตรู หรือการอพยพ
นอกจากการสื่อสารกันผ่านฟีโรโมนแล้ว “มดยังเป็นสัตว์ที่ไวต่ออุณหภูมิและความชื้น” สามารถรับรู้ถึงความชื้นในอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในดินได้ดีกว่ามนุษย์และสัตว์บางกลุ่ม และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจึงมักเห็นมดอพยพย้ายรังกันก่อนที่จะเกิดฝน บางครั้งก็อพยพกันล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ หรือสร้างเนินดินรอบทางเข้ารัง เพื่อป้องกันบ้านและเหล่าประชากรมดจากน้ำที่จะไหลท่วมบ้านนั่นเอง
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่ามีหลายคนคงมีความกังวลอยู่ในใจว่า “แล้วมดที่อพยพจากรังหนีมาอยู่บนบ้านเราล่ะ จะมาอยู่อาศัยถาวรเลยมั้ย?” คำตอบคือ...มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ ถ้าบ้านของเรามีแหล่งอาหาร มีมุมอับ รอยแตกร้าวของผนังแล้วล่ะก็ มดก็สามารถลงหลักปักฐานอย่างถาวรได้เลย เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกัน คือ ต้องหมั่นตรวจสอบรอยแตกร้าวของผนัง พื้น รวมถึงจัดการไม่ให้มีเศษอาหารตกหล่นอยู่ในบ้าน และทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอเพียงเท่านี้มดที่อพยพมา ก็จะมาเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
ทั้งนี้นอกจากมดแล้ว ก็ยังมีสัตว์ที่เป็นนักพยากรณ์ในธรรมชาติที่เราจะพบเห็นได้อีกมากมาย เช่น กลุ่มของสุนัข กลุ่มนก และปลาอีกด้วย ไว้ครั้งต่อไปเราจะมาเจาะลึกเรื่องนี้สัตว์ชนิดอื่นๆ กัน
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://theconversation.com/weve-got-apps-and-radars-but-can-ants-predict-rain-101986