Knowledge - RISC

มุมเล็กๆ ของช้างตัวใหญ่

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

4984 viewer

“ช้าง” เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเรามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่...จะมีใครรู้บ้างว่า ช้างตัวใหญ่ๆ ที่เรารู้จักนั้น  มีมุมเล็กๆ ที่คาดไม่ถึงอยู่ งั้นวันนี้เราลองมาร่วมค้นหาความพิเศษนี้ไปด้วยกัน

รู้หรือไม่?​

"ช้าง" มีความสามารถพิเศษ ที่สื่อสารระหว่างกันได้ในระยะไกลหลายกิโลเมตร โดยการส่งและรับเสียงความถี่ต่ำ (อินฟราซาวน์) ซึ่งเป็นเสียงดังที่ต่ำกว่าความถี่ที่มนุษย์จะได้ยิน นอกจากการใช้เสียงความถี่ต่ำ ช้างยังมีการสื่อสารกันด้วยการสัมผัส และการรับกลิ่น โดยงวงของช้างนี้แหล่ะ มีบทบาทสำคัญในการปฏิสัมพันธ์กัน ช้างที่คุ้นเคยกันจะทักทายโดยการพันงวงรอบกัน คล้ายกับการจับมือของมนุษย์ และยังใช้งวงในการเกี้ยวพาราสี ช่วยเตือนภัย หรือการยอมแพ้ นอกจากนี้งวงของช้างยังสามารถรับกลิ่นได้ดีและไกล ทำให้รับรู้ถึงอันตรายล่วงหน้าได้อีกด้วย

ผิวหนังของช้างมีสีเทา ความหนาประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร แต่สามารถไวต่อการสัมผัสของแมลงหรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ เราจึงมักเห็นช้างคลุกเล่นหรือราดโคลนบนตัวอยู่บ่อยๆ นั่นก็เพราะโคลนเป็นเหมือนกับครีมกันแดดที่ช่วยป้องกันผิวหนังจากแสงแดด ป้องกันแมลงกัดต่อย รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ได้ ผิวที่ย่นช่วยเพิ่มพื้นที่ในการรักษาความเย็นและกักเก็บความชื้น​

หูขนาดใหญ่ของช้างจะช่วยในการรักษาสมดุลของร่างกาย การกระพือหูอย่างต่อเนื่องนั้น ช่วยสร้างลมเบาๆ ขึ้นมา ซึ่งลมนี้สามารถช่วยในการลดอุณหภูมิของหลอดเลือดของช้างได้ และยังมีงานวิจัยที่กล่าวว่า ช้างเพศผู้จะกระพือหูเพื่อช่วยในการกระจายกลิ่นอีกด้วย​

สมองของช้างมีความคล้ายคลึงกับสมองของมนุษย์และกลุ่มของวาฬหรือโลมาในแง่ของโครงสร้างและความซับซ้อน จึงทำให้ช้างมีสติปัญญาที่ดีกว่าสัตว์หลายๆ ชนิด สามารถทำเสียง เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ มีความรู้สึกนึกคิด มีการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การแสดงความเห็นใจ และยังมีความเศร้าโศกต่อช้างที่กำลังตายหรือช้างที่ตายแล้วได้อีกด้วย​

ช้างจะมีอายุขัยเฉลี่ย 60-70 ปี โดยจะใช้เวลาตั้งท้องนานถึง 22 เดือน และออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น ลูกช้างจะเป็นศูนย์กลางความสนใจของกลุ่มครอบครัว และต้องอาศัยแม่ดูแลเป็นเวลานานสุดถึง 3 ปี การใช้ชีวิตในสังคมของช้างแต่ละเพศแตกต่างกันมาก โดยเพศเมียจะใช้เวลาทั้งชีวิตในกลุ่มครอบครัวหรือโขลง ที่มีความสัมพันธ์แน่นหนา ซึ่งจะประกอบด้วยแม่ ลูก พี่น้อง ป้า และน้า ประมาณ 5-15 ตัว กลุ่มเหล่านี้จะถูกนำโดยเพศเมียตัวที่มีอายุมากที่สุด หากกลุ่มมีขนาดใหญ่เกินไปก็จะแตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ซึ่งสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ คือ ช้างเหล่านี้จะสามารถจำได้ว่ากลุ่มใดที่มาจากสายสัมพันธ์เดียวกัน

ในขณะที่เพศผู้ตัวเต็มวัยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่อย่างสันโดษตามชายขอบของโขลง และเมื่อเข้าวัยหนุ่ม ช้างเพศผู้จะใช้เวลาไปกับการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ และจะมีเพียงช้างเพศผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น ที่จะสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ ส่วนช้างเพศผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า จะต้องรอคอยจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

ปัจจุบัน ช้างไทยได้รับผลกระทบจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย จากการบุกรุกทำลายป่าไม้ และการทำการเกษตรในถิ่นที่อยู่ของช้างอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความขัดแย้งของช้างป่ากับมนุษย์ให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงมีการล่าเพื่อลักลอบซื้อขายงาช้างกันอยู่ตลอด ซึ่ง RISC หวังว่ามุมเล็กๆ ของช้างตัวใหญ่เหล่านี้ จะช่วยให้เราทุกคนได้เห็นถึงความน่ารักของช้าง เข้าใจและเห็นใจช้างไทยกันมากขึ้น ว่าเค้าก็มีชีวิตจิตใจและมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างอะไรจากมนุษย์เราเลย​

เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์​
https://elephantvoices.org/ ​
Shoshani, J. (2006) Taxonomy, Classification, and Evolution of Elephants In: Fowler, M. E., Mikota, S. K. (eds.) Biology, medicine, and surgery of elephants. Wiley-Blackwell. ISBN 0-8138-0676-3. Pp. 3–14.​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน