รู้มั้ย? พืชก็อยากนอนนะ
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
ไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็ต้องการนอนหลับพักผ่อน ยิ่งถ้าได้นอนหลับในที่มืดสนิทยิ่งทำให้เรานอนหลับได้สบาย แต่หากใครมาเปิดไฟในช่วงกำลังเคลิ้มๆ อยู่ เราก็คงจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย และจะให้กลับไปข่มตาให้หลับอีกก็คงยาก
รู้หรือไม่? ว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่คนกับสัตว์ แต่พืชเองก็รู้สึกแบบนั้นไม่ต่างจากเรา
อย่างที่เรารู้กัน พืชจะสร้างอาการเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) และเก็บสะสมไว้ในรูปของแป้ง ก่อนถูกนำไปสลายเป็นพลังงานในเวลากลางคืน จะเห็นได้ว่า พืชเองก็ต้องการเวลากลางคืน สำหรับการดื่มด่ำกับอาหารที่จัดเตรียมไว้เหมือนกัน
เราอาจมองได้ว่า แสงคือพลังงานรูปแบบหนึ่งที่กระตุ้นให้พืชได้ทำงาน ถ้าได้รับพลังงานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาพัก ก็คงเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกใช้ตลอดเวลา จนอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็พังไปในที่สุด
จากงานวิจัยที่ทำการศึกษาใน Arabidopsis (Arabidopsis thaliana (L.) Heynh.) ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มพืชดอก ใบเลี้ยงคู่ วงศ์ผักกาด (Brassicaceae) จะพบว่าสาร CONSTANS (CO) ซึ่งมีผลต่อการออกดอกจะถูกสร้างในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ถ้ามีแสงสว่างมารบกวนเพียงเล็กน้อย Arabidopsis จะหยุดผลิตสาร CO ทันที ส่งผลให้ไม่สามารถออกดอกได้นั่นเอง
ผลการวิจัยนี้ทำให้ทราบว่าแสงรบกวนเพียงเล็กน้อยในเวลากลางคืน ก็ส่งผลต่อการออกดอกของพืชเป็นอย่างมาก เสมือนว่าพืชกำลังหลับเคลิ้มๆ และหลั่งสารแห่งความสุขให้พร้อมออกดอก แต่พอมีแสงรบกวนเพียงเล็กน้อย พืชจะสะดุ้งตื่น และสารเหล่านี้ก็จะสลายไปทั้งหมด ทำให้พืชไม่สามารถออกดอกได้ตามปกติ
ช่วงเวลากลางคืนอันยาวนานที่ไม่มีแสงใดรบกวนก็สำคัญสำหรับพืชเช่นกันไม่ต่างจากคนหรือสัตว์ เราจึงควรหันมาใส่ใจในเรื่องแสงนี้เพิ่มเติม เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของพืชกัน
เนื้อหาโดย คุณ ธีรเจต เอี่ยมพันธ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล. Biology (ชีววิทยา). พิมพ์ครั้งที่ 1. (กรุงเทพมหานคร: บริษัท แอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด, 2559). หน้า 76-77
MANISHA MINNI. (2566). Phytochrome: Definition, Mechanism, Role, Functions. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.embibe.com/exams/phytochrome/
Xiaojing Yang et al., 2009. Conformational differences between the Pfr and Pr states. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.0902178106
Andrew. Unknown. Plant experiment (photosynthesis & respiration). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.picotech.com/library/experiment/plant-measurements-during-day-and-night
Karen J. Halliday et al, 2009. Integration of Light and Auxin Signaling. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2882117/
QS Study. (2566). Types of Plants according to the Length of Day Light. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://qsstudy.com/types-plants-according-length-day-light/
BBC. (2566). Photosynthesis and respiration in plants. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.bbc.co.uk/bitesize/topics/zvrrd2p/articles/zjqfsk7
JU'S. (2566). CAM Pathway. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://byjus.com/neet/short-notes-of-biology-for-neet-cam-plants/#CAM%20Photosynthesis
Sang Yeol Kim et al., 2008. Regulation of CONSTANS and FLOWERING LOCUS T Expression in Response to Changing Light Quality. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2528114/
Russell Jones & team. The Molecular Life of Plant. p. 282