รู้หรือไม่? ต้นไม้ไม่ได้มีแค่รากแก้วและรากฝอย
เขียนบทความโดย RISC | 3 วันที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 3 วันที่แล้ว
เมื่อเราพูดถึงรากของต้นไม้ ส่วนใหญ่เราก็จะรู้จักแต่รากแก้ว รากแขนงที่แตกออกจากรากแก้ว และรากฝอยเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว รากของพืชยังมีอีกมากมายหลายชนิด จนบางครั้งเราอาจคิดไม่ถึงว่าที่เคยเห็นนั้นเป็นราก
รากแก้ว (Tap Root) และรากแขนง (Lateral Root) เป็นรากที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งมีหน้าที่หลักในการค้ำจุนพืชให้ยึดติดอยู่ดินหรือวัสดุปลูก ดูดซึมน้ำ และแร่ธาตุจากดินส่งไปยังลำต้นเพื่อใช้ในกระบวนการเจริญเติบโต แต่พืชก็ยังมีรากพิเศษ (Adventitious Root) ที่เป็นรากที่พัฒนาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของพืช โดยรากพิเศษก็มีมากมายหลายชนิด เช่น...
รากค้ำยัน (Prop Root) หรือเสาหลักค้ำยัน (Pillar Root) เป็นรากที่ถูกพัฒนามาจากลำต้นภายใต้สภาวะเครียดที่เกิดจากน้ำท่วม พื้นดินอ่อนนุ่ม โดยมีหน้าที่ในการช่วยค้ำจุนให้ต้นไม้สามารถคงอยู่ได้ มีลักษณะที่เป็นเนื้อไม้งอกออกมาจากลำต้น ตัวอย่างรากชนิดนี้ที่เด่นชัดก็คือ ต้นโกงกางในป่าชายเลนนั่นเอง
รากสะสมอาหาร (Storage Root) เป็นรากที่มีความสามารถเก็บสะสมอาหารไว้ภายในราก และมีรูปร่างที่หลากหลาย เช่น ทรงกรวย (Conical) ทรงกระสวย (Fusiform) ทรงหัวใจ (Napiform) และทรงนิ้วมือ (Tuberous) พืชที่มีรากชนิดนี้เรารู้จักกันเป็นอย่างดีแน่นอน แต่เราอาจไม่รู้ว่ามันคือราก เช่น มันสำปะหลัง แครอท บีทรูท
รากอากาศ (Aerial Root) เป็นรากที่ทำหน้าที่ยึดเกาะตามพื้นที่ต่างๆ เช่น พวกกลุ่มไม้เลื้อย บางชนิดมีคลอโรพลาสที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้เห็นเป็นสีเขียวบริเวณนั้นอย่างชัดเจน เช่น รากกล้วยไม้
รากหายใจ (Air Root) เป็นรากที่มีหน้าที่แลกเปลี่ยน และลำเลียงก๊าซออกซิเจนไปใช้ในรากที่อยู่ภายในดิน เช่น Pneumatophore ของต้นแสมขาวในป่าชายเลน เนื่องจากป่าชายเลนมีน้ำท่วมตลอดเวลา ทำให้รากที่อยู่ใต้ดินขาดออกซิเจน พืชจึงได้พัฒนาตัวเองให้โผล่พ้นดินเพื่อใช้ในการหายใจ
รากปรสิต (Parasitic Root) เป็นรากของพืชปรสิตที่จะคอยชอนไช และแทงลึกเข้าไปในรากของพืชชนิดอื่น เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารหลักให้กับตัวเอง โดยรากปรสิตนี้อาจทำให้ต้นหลัก (Host) เจริญเติบโตได้ช้าลงจนไปถึงเหี่ยวเฉาและตายได้
รากพูพอน (Buttress Root) เป็นรากที่เกิดจากการปรับตัวของต้นไม้บางชนิดที่อยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น บริเวณริมน้ำ หรือพื้นที่ดินตื้น จึงทำให้รากแก้วไม่สามารถชอนไชลงไปในดินได้ จนต้องปรับตัวให้มีลักษณะเป็นแผงใหญ่ยื่นออกนอกลำต้นทางโคน เพื่อให้สามารถพยุงตัวอยู่ได้
เนื้อหาโดย คุณ นครินทร์ ผ่องแผ้ว นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC