"สภาพแวดล้อมรอบตัว" อีกตัวแปรที่เพิ่มแนวโน้มการเกิดโรค NCDs
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
รู้หรือไม่ สภาพแวดล้อมรอบตัว เพิ่มแนวโน้มการเกิดโรค NCDs !!!
แม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายระบุว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs หรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดต่อหรือการแพร่ระบาด ถึง 37 คนต่อชั่วโมง หรือ 320,000 คนต่อปี แถมยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
แล้วกลุ่มโรค NCDs ที่ว่าคือโรคอะไรบ้าง?
กลุ่มโรค NCDs (Non Communicable Diseases) ก็คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดต่อหรือการแพร่ระบาด โดยโรคอันดับ 1 ที่คนเสียชีวิตมากสุด คือ โรคหลอดเลือดสมอง รองลงมาคือโรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ตามลำดับ ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่เราทำในชีวิตประจำ อย่างเช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย และส่วนมากผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงวัยทำงาน
แต่เชื่อหรือไม่ ว่านอกจากพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเหล่านี้แล้ว ยังมีงานวิจัยอีกมากมายที่ศึกษาปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรค NCDs ได้ ซึ่งปัจจัยที่ว่าก็คือ “ด้านสภาพแวดล้อม” (Environmental Factors) งั้นเราลองไปดูตัวอย่างงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมมีส่วนที่ทำให้เกิดโรค NCDs ได้อย่างไร?
สถาบัน Netherlands Institute for Neuroscience (NIN) ได้ใช้หนูทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องการรับแสงในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า การได้รับแสงในช่วงเวลากลางคืน จะทำให้ร่างกายขาดสมดุลในการต้านทานกลูโคส แต่ก็ขึ้นอยู่กับคลื่นแสงในแต่ละช่วงด้วยเช่นกัน โดยแสงสีขาวที่ความสว่าง 50-150 lux จะกระตุ้นให้ร่างกายมีระดับกลูโคสสูงกว่าแสงในระดับ 5-20 lux และคลื่นแสงสีเขียวในช่วง 520 nm จะมีปฏิกิริยากับการต่อต้านกลูโคสของร่างกายหนู แต่แสงสีแดงและสีน้ำเงินนั้นไม่ส่งผลต่อระดับกลูโคส จึงนำไปสู่ข้อระวังว่า การได้รับแสงในช่วงเวลากลางคืนนั้นเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยรายงานเพิ่มเติมอีกว่า การได้รับแสงตอนกลางคืนนั้นจะกระทบกับระบบนาฬิกาชีวิตของร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย พบว่าระดับความดันโลหิตนั้นสูงขึ้น 3–4 mmHg ต่อความเข้มแสงที่ระดับ 5 lux ซึ่งระดับความดันนั้นเชื่อมโยงไปสู่ความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากแสงที่ใกล้ตัวเราแล้วนั้น เรื่องของเสียงก็มีผลด้วยเช่นกัน โดยมีงานวิจัยที่ระบุว่า การได้รับมลภาวะทางเสียงต่อเนื่องกันจะทำให้ร่างกายหลั่งคอร์ติซอล (Cortisol) มากขึ้น ซึ่งคอร์ติซอลนี้ ก็คือ ฮอร์โมนความเครียดนั่นเอง นอกจากนี้มลภาวะทางเสียงจากการจราจร ก็ทำให้ร่างกายเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง และนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจตามมา และหากร่างกายได้รับมลภาวะทางเสียงจากเครื่องบินต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉียบพลันขณะหลับตอนกลางคืนอีกด้วย
แม้แต่ปัญหามลภาวะทางอากาศ ก็มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า มีการเชื่อมโยงไปสู่การเกิดโรคมากมาย ทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคไต (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/3YQxLGq)
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างงานวิจัยที่รายงานไปทิศทางเดียวกันว่า สภาพแวดล้อม (Environmental Factors) นั้นส่งผลและเชื่อมโยงไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค NCDs ได้ และคงจะดีไม่น้อย หากเรานำความรู้ความเข้าใจในการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัย มาใช้เพื่อช่วยลดปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเกิดโรคกลุ่ม NCDs
เนื้อหาโดย คุณ วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, Fitwel Ambassador และ WELL AP, RISC