หน้าฝนนี้...อย่าให้ไฟรั่ว ไฟดูด มาทำพิษ!
เขียนบทความโดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 7 เดือนที่แล้ว
เข้าหน้าฝนเมื่อไหร่ หลายบ้านต้องเจอกับปัญหาไฟรั่ว ไฟดูด จนกลายเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะนอกจากจะไม่สะดวกสบายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตคนในบ้านอีกด้วย
เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ในบ้านอย่างปลอดภัยและมีความสุข วันนี้ RISC มีวิธีป้องกันง่ายๆ มาแนะนำกัน...
ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันตั้งแต่....
"การออกแบบระบบไฟฟ้า" ให้ได้มาตรฐานตามหลักการที่ถูกต้องตามประเภทการใช้งาน บทความนี้เราจะพูดถึงระบบไฟฟ้าของบ้านเดี่ยว หรือทาวส์โฮมเท่านั้น (ส่วนของอาคารสูง หรือคอนโดมิเนียม จะมีการกำหนดมาตรฐานในการออกแบบสำหรับอาคารสูงหรือใหญ่พิเศษ)
การออกแบบระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ให้ถูกต้องและคำนึงถึงปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ไฟฟ้า เช่น ไฟรั่ว ไฟดูด หรือไฟไหม้ ซึ่งการออกแบบจะต้องมีปัจจัยต่างๆ ตามนี้ ไม่ว่าจะเป็น...
1. เลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน มอก. หรือ IEC กำกับ และเหมาะกับการใช้งาน โดยทั่วไปสายไฟสำหรับใช้ในบ้านควรมีขนาดตามโหลดการใช้งาน และเหมาะสมกับขนาดอุปกรณ์ป้องกันวงจรแต่ละประเภท
2. แยกวงจรแสงสว่าง และเต้ารับไฟฟ้าออกจากกัน รวมทั้งควรมีการแยกวงจรไฟฟ้าในห้องครัว ห้องน้ำ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสูง เช่น เครื่องปรับอากาศ เตาอบ เป็นต้น
3. ติดตั้งตู้เมนไฟฟ้าในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย และควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว (RCD) และอุปกรณ์ตัดวงจรไฟฟ้า (MCB) ในตู้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟดูดและกระแสไฟฟ้าเกิน หรือจะติดตั้งอุปกรณ์ทั้งป้องกันไฟดูดและแรงดันเกิน (RCBO) ก็ได้
ภาพที่ 1 จาก PMK Corporation Ltd.
ภาพที่ 2 จาก PMK Corporation Ltd.
มาดูในส่วนของ "การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ Residual Current Device (RCD)" ส่วนมากจะติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต ในบ้าน ซึ่งเครื่องนี้มีหน้าที่ตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยจะตัดกระแสไฟฟ้าภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้าและออก มีค่าไม่เท่ากัน หรือก็คือมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่รั่วหายไป เช่น รั่วไหลจากเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดิน หรือกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านคนที่ไปสัมผัสอุปกรณ์ที่มีไฟรั่วอยู่
เครื่องตัดไฟรั่ว อาจมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือ (RCD, RCBO, RCCB) หรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน (ELCB, GFCI) โดยจะถูกนำไปใช้งานร่วมกับเซอร์กิต เบรกเกอร์ ประเภทอื่นๆ เช่น เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB หรือ เบรกเกอร์ MCCB แต่ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายจะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ก็คือ 1) RCCB (Residual Current Circuit Breakers) สามารถใช้ตัดวงจรได้เฉพาะกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วอย่างเดียว จึงมักต้องติดตั้งร่วมกับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เสมอ, 2) RCBO (Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) สามารถใช้ตัดวงจรได้ทั้งกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว, กระแสไฟฟ้าเกิน และกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และ 3) ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) เบรกเกอร์กันไฟดูด ตรวจจับไฟฟ้ารั่วและตัดไฟ รวมทั้งการป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว
คราวนี้เรามาดูประโยชน์ของเครื่องตัดไฟรั่วกัน อย่างแรกคือ ป้องกันไม่ให้คนถูกไฟฟ้าดูด อย่างที่สองคือใช้ป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดจากไฟฟ้ารั่วในวงจรไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า และสุดท้ายใช้ตรวจสอบว่ามีจุดใดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน เพื่อจะได้แก้ไขต่อไป ส่วนตำแหน่งการติดตั้ง ก็สามารถทำได้ 2 แบบ คือ
1. ติดตั้งที่แผงเมนสวิตช์ เช่น ติดตั้ง RCBO แทนเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน กรณีนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอัคคีภัยเป็นหลัก
2. ติดตั้งที่วงจรย่อย เช่น ติดตั้ง RCCB กรณีนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูดเป็นหลัก
สำหรับการเลือกเครื่องตัดไฟรั่ว เราจำเป็นจะต้องดูข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น...
1. ต้องผลิตและผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCBO มอก. 909-2548 หรือ เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCCB มอก. 2425-2552
2. ต้องมีพิกัดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์ เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูด
3. ต้องติดตั้งร่วมกับสายดิน เพราะสายดินจะช่วยนำไฟฟ้าที่รั่ว ไหลลงดินโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่สัมผัส และยังช่วยให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (เซอร์กิตเบรกเกอร์) รวมทั้งช่วยให้ RCD สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ติดตั้งในวงจรย่อยที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณที่เปียกชื้น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องครัว ห้องใต้ดิน วงจรไฟฟ้าภายนอกอาคาร รวมถึงวงจรย่อยสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น หรืออ่างอาบน้ำ
5. RCD ต้องมีพิกัดกระแสไม่น้อยกว่า พิกัดกระแสของเครื่องป้องกันกระแสเกิน
6. ต้องเป็นชนิดที่ปลดสายไฟทุกเส้นออกจากวงจรรวมทั้งสายนิวทรัล ยกเว้นสายนิวทรัลนั้นมีการต่อลงดินโดยตรงแล้ว
7. ติดตั้ง RCD ที่ตำแหน่งหลังจากเซอร์กิต เบรกเกอร์เมน โดยเลือก RCD ขนาดพิกัดกระแสรั่วมากกว่า 30 mA (เช่น 100 mA หรือ 300 mA) และควรเป็นชนิดหน่วงเวลา (type S)
นอกจากนี้ การตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟอยู่เป็นประจำก็สามารถช่วยให้เราปลอดภัยจากการถูกไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้ารั่วได้อีกทางนึง ซึ่งสามารถทำได้ตามนี้...
1. ตรวจสอบสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านว่ามีการชำรุดหรือไม่ หากพบว่ามีการชำรุดหรือฉีกขาด ควรรีบซ่อมหรือเปลี่ยนทันที โดยช่างผู้ชำนาญ
2. หมั่นทำความสะอาดแผงควบคุมไฟฟ้าและตู้ไฟ เพื่อป้องกันการเกิดความชื้นและฝุ่นละอองที่อาจทำให้เกิดการลัดวงจร
3. ควรตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดูด หรืออุปกรณ์ป้องกันการลัดวงจร 6 เดือนครั้ง หรืออย่างน้อยควรมีการตรวจสอบปีละครั้ง โดยกดที่ปุ่มทดสอบการทำงาน (Test Button) ที่ RCD
4. ตรวจตู้โหลดไฟฟ้าเพื่อดูระบบกราวด์ว่ายังอยู่ในสภาพค่ากราวด์และระบบสายดินเป็นไปตามมาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนด โดยช่างผู้ชำนาญ
5. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟรั่ว โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนักหรือมีพายุฟ้าร้อง อย่างเช่น เครื่องซักผ้า หรือเตารีด แต่หากจำเป็นต้องใช้ ก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยมือเปียก การสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยมือที่เปียกหรืออยู่ในพื้นที่ที่เปียกชื้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าดูด ดังนั้นควรเช็ดมือให้แห้งก่อนใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกครั้ง
ในบทความต่อไป เราจะมาเรียนรู้กันว่า "ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจากการถูกไฟฟ้าดูด เราควรรับมือและปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถูกต้องและปลอดภัย"
เนื้อหาโดย คุณ มนตรี ภูแล่นคู่ วิศวกรวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้าน Well-Being Research Integration และ Building Infrastructure, RISC