Knowledge - RISC

เธอมากับฝน...ฝนนี้ มาแน่!!

เขียนบทความโดย RISC | 4 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 4 เดือนที่แล้ว

912 viewer

“เธอมากับฝน...!!” วันนี้เราไม่ได้มาร้องเพลงดังยุค 2000 แต่...หน้าฝนแบบนี้ จะมีอะไรบ้างที่มากับฝน​

แน่นอนว่าประเทศไทยเราได้เข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการไปแล้ว นอกจากจะต้องระวังเรื่องสุขภาพ และการเดินทาง ช่วงหน้าฝนอย่างนี้มักจะมีสิ่งมีชีวิตโผล่มาให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งวันนี้ RISC อยากแนะนำกลุ่มสิ่งมีชีวิต 3 อันดับ เพื่อจะได้ป้องกันเบื้องต้น รวมถึงใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย รู้เค้ารู้เรา จะได้ไม่ทำอันตรายต่อกัน​

สิ่งมีชีวิตอันดับแรกที่มักจะพบเจอได้ ก็คือ “งู” นั่นเอง งูมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ ต้นไม้ พื้นที่รก ชื้น หากในบริเวณนั้นมีแหล่งอาหารชั้นดีอย่างหนูอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้งูเข้ามาในพื้นที่ของเรามากขึ้นไปอีก ดังนั้น เราต้องหมั่นรักษาความสะอาดในบ้านไม่ให้มีแหล่งอาหาร หรือแหล่งหลบซ่อนได้ ซึ่งหากพบเห็นงูเข้ามาในบ้านหรือบริเวณบ้านแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นงูอะไร สามารถโทรแจ้ง 199 ให้เข้ามาช่วยเหลือได้เลย​

ถัดมาเป็น “แมลงก้นกระดก” เนื่องจากเป็นช่วงที่แมลงก้นกระดกต้องการความชื้นเพื่อขยายพันธุ์ และชอบเข้ามาเล่นแสงไฟในเวลากลางคืน แมลงก้นกระดกเป็นแมลงที่มีสารพิษที่ชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) ก่อให้เกิดความระคายเคือง เมื่อสัมผัสโดนผิวหนังจะเป็นผื่นคันหรืออาจเกิดแผลพุพองได้ ซึ่งเราสามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดยปิดหน้าต่างประตูให้มิดชิด และตรวจสอบบริเวณที่นอนหรือที่นั่งก่อนทุกครั้ง และหากเจอก็ควรเป่าหรือสะบัดออก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง​

สุดท้ายคือเหล่าสัตว์สัตว์ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น “ตะขาบ” “แมงป่อง” ส่วนใหญ่มักพบตามพื้นที่มุมอับชื้น ตามกองใบไม้ สัตว์เหล่านี้ทำอันตรายต่อคนโดยตรง พิษต่อทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ส่วน “กิ้งกือ” หรือ ”คางคก” ผิวหนังมีต่อมพิษ หากพลั้งเผลอไปสัมผัส เกิดอาการแพ้นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละคน ในบางรายที่แพ้รุนแรงอาจจะถึงแก่ชีวิตได้เลย​

สิ่งสำคัญที่ควรทำในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ก็คือ การดูแลสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน จัดเก็บให้เป็นระเบียบ กำจัดมุมอับที่จะเป็นแหล่งหลบซ่อน ไม่ว่าจะเป็นกองวัสดุ เศษไม้ ใบไม้ รวมทั้งซ่อมแซมจุดแตกร้าว หรือพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของดิน เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านของเรา​

เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน