เรามาเลือกปลูกต้นไม้ เรียกผีเสื้อที่อยากเห็นในสวนบ้านเรากัน
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
หากเราสามารถเลือกได้ว่า อยากให้ “ผีเสื้อ” ลวดลายแบบนั้น สีสันแบบนี้ มาบินวนอยู่รอบๆ บ้านของเรา...ถ้าทำได้คงจะดีมาก แต่เราจะทำได้อย่างไร?
ก่อนอื่นเลยเรามารู้จัก “ผีเสื้อ” ให้มากขึ้นกันซักหน่อย...
“ผีเสื้อ” อยู่ในอาณาจักรสัตว์ (Animalia Kingdom) ไฟลัม Arthropoda ชั้น Insecta (Class) อันดับ Lepidoptera (Order) ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย เราพบผีเสื้อประมาณ 40 วงศ์ (Family) หรือราวๆ 1,300 ชนิด (Species) และแค่ในเฉพาะกรุงเทพฯ เราสามารถพบได้ประมาณ 50 ชนิดเลยทีเดียว
ผีเสื้อนั้นมีวงจรชีวิตที่แบ่งเป็น...
- ระยะไข่ (egg) 3-7 วัน
- หนอน (larva) 14-35 วัน
- ดักแด้ (pupa) 7-14 วัน
- ตัวเต็มวัย (adult) 14-21 วัน
ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะจำกัดจำนวนชนิดพันธุ์ของผีเสื้อ นั่นก็คือ “อาหารของหนอนผีเสื้อ” เพราะโดยทั่วไปหนอนผีเสื้อแต่ละชนิดจะเลือกกินอาหารที่แตกต่างกัน พื้นที่ที่มีพันธุ์พืชที่เป็นอาหารหนอนผีเสื้อชนิดใด ก็จะมีโอกาสพบผีเสื้อชนิดนั้นได้สูง ตัวอย่างเช่น...
- หนอนผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ (Common Tiger) กินใบของต้นรัก (Crown flower) จมูกปลาหลด (Rosy milkweed vine)
- หนอนผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา (Pain Tiger) กินใบต้นรัก (Crown flower) มะเดื่ออุทุมพร (Cluster fig)
- หนอนผีเสื้อแพนซีมยุรา (Peacock Pansy) กินใบต้นต้อยติ่ง (Waterkanon) ต้นหญ้าเกร็ดปลา (Lippia)
- หนอนของผีเสื้อกะทกรกธรรมดา (Leopard Lacewing) กินใบต้นกะทกรก (Fetid passionflower) เสาวรส (Passion fruit)
- หนอนผีเสื้อหนอนกาฝากธรรมดา (Painted Jezebel) กินใบต้นกาฝาก (Parasites)
จากตัวอย่างที่ยกมา หากเราต้องการให้บริเวณบ้านของเราพบเจอผีเสื้อชนิดใด ก็ลองนำต้นไม้ที่หนอนผีเสื้อชนิดนั้นชอบกินมาปลูกกันดู และนอกจากเรื่องอาหารแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อชนิดและจำนวนของผีเสื้อ นั่่นคือ "สภาพแวดล้อม และสภาพภูมิประเทศ"
อย่างที่เรารู้กัน แม้จะมีผีเสื้อบางชนิด โดยเฉพาะในระยะหนอนที่เป็นศัตรูพืชที่ กัดกินใบสร้างความเสียหาย แต่ผีเสื้อก็ยังเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก อย่างเช่น การช่วยผสมเกสรดอกไม้ (Pollinator) เพื่อให้ต้นไม้ได้เติบโตขยายพันธุ์ และด้วยปีกของผีเสื้อที่มีสีสันสวยงาม ก็ยังช่วยให้เราได้รู้สึกรื่นรมย์อีกด้วย
สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองก็สามารถพบเห็นผีเสื้อได้ตามพื้นที่สวนสาธารณะทั่วไป ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็สามารถไปศึกษาผีเสื้อได้ที่อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร (Bangkok Butterfly Garden and Insectarium) สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ที่เปิดให้เยี่ยมชมฟรี ที่นั่นมีผีเสื้อหลากหลายชนิดให้ศึกษาและมีเจ้าหน้าที่ให้คอยให้คำแนะนำตลอด
เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC และ คุณ เอเซีย เล็กกุล นิสิตฝึกงานภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2559. คู่มือการเพาะเลี้ยงผีเสื้อ.
อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร. รายงานพืชอาหารหนอนผีเสื้อภายในอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ.
Jutaras, N., Sing, K. Wilson, J.J. and Dong, H. 2020. Butterflies in urban parks in the Bangkok Metropolitan Region, Thailand. Biodiversity Data Journal. 8. doi:10.3897/BDJ.8.e56317
Ghazoul, J. 2002. Impact of logging on the richness and diversity of forest butterflies in a tropical dry forest in Thailand. Biodiversity and Conservation. 11: 521–541. doi.org/10.1023/a:1014812701423