Knowledge - RISC

เราได้เรียนรู้อะไร? จากเหตุไฟไหม้ถังบรรจุสารเคมีที่ระยอง

เขียนบทความโดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 7 เดือนที่แล้ว

957 viewer

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ถังบรรจุสารเคมีที่จังหวัดระยองเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่าน เราคงได้เห็นผลกระทบที่ตามมาในวงกว้างทั้งในเรื่องของความเสียหายด้านทรัพย์สิน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจถึงสารเคมีที่เป็นอันตรายกับเรา รวมถึงพร้อมรับมือหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกในอนาคต​

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักสารเคมีที่มีชื่อว่า “ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน” (Pyrolysis Gasoline) ที่อยู่ภายในถังบรรจุสารเคมีกันก่อน โดยทั่วไปในกระบวนการย่อยสลายแนฟทา (Naphtha Cracking) โดยใช้ความร้อนสูง จะได้ผลิตภัณฑ์หลักเป็นสารโอเลฟินส์ เช่น เอทิลีน พรอพิลีน ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการบวนการผลิตพอลิเมอร์และพลาสติกต่างๆ อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวยังได้ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น คือ ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน หรือที่เรียกว่า ไพแก๊ส (Pygas)​

มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่? ​

ไพแก๊สเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่มีหลายองค์ประกอบรวมกัน ส่วนใหญ่เป็นสารอะโรเมติกส์และมีค่าออกเทนสูง จึงมักนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซิน และใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลักษณะของไพแก๊สนั้น เป็นของเหลวระเหยง่าย และจัดเป็นสารไวไฟ สามารถลุกติดไฟได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากไอของไพแก๊สมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ ทำให้สามารถสะสมในที่ต่ำบริเวณพื้น ไม่ลอยสู่บรรยากาศ หากไอของไพแก๊สกระจายไปในอากาศ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้คนที่สัมผัสได้ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หากได้รับปริมาณสูงอาจทำให้หมดสติได้​

เมื่อไพแก๊สลุกติดไฟ จะเกิดเขม่าและคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide, CO) หากหายใจเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ร่างกายที่ได้รับ CO มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หากได้รับในปริมาณสูงแบบเฉียบพลัน อาจหมดสติ และเสียชีวิตได้​

เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ต้องทำอย่างไร? ​

ส่วนการดับไฟจากการลุกไหม้ของไพแก๊ส ควรใช้สารเคมีแห้ง ทราย หรือโฟม และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ เนื่องจากไอของไพแก๊สสามารถลุกติดไฟลอยเหนือผิวน้ำได้ ทำให้ไฟลุกลามขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น และเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของไพแก๊ส รวมถึงเขม่าและควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทดี และควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการหายใจเอาเขม่า รวมถึง PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย​

เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​

Safety Data Sheet: Pyrolysis Gasoline, https://www.vitol.com/wp-content/uploads/2023/01/25.-Pygas_SDS_US_V3.0.pdf​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน