เรื่องไม่ลับของ "หอยทาก"
เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
หน้าฝนแบบนี้หลายบ้านคงพบเจอกับ “หอยทาก” หรือ ตื่นเช้าขึ้นมาพบว่าต้นไม้ของเราใบแหว่งไปหลายต้น ซึ่งสัตว์ชนิดนี้ชอบอาศัยในพื้นที่ชื้น และมักออกมาเที่ยวเล่นเวลากลางคืน จึงไม่ค่อยพบในช่วงเวลากลางวันนัก วันนี้แอดมินไม่ได้แนะนำวิธีกำจัดพวกเค้า แต่จะเอาเรื่องลับที่ไม่ลับของหอยทากมาฝากกันครับ
- ซากดึกดำบรรพ์ของหอยทากถูกค้นพบในยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) นั่นคือ เมื่อ 550 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ก่อนที่จะเกิดยุคไดโนเสาร์ซะอีก
- หอยทากเป็นสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะที่เรียกว่าหู และมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกที่ยาวกว่า จะมีตาอยู่ที่โคนหนวดคอยทำหน้าที่รับแสง (Eye spot) และอาศัยหนวดคู่ที่สั้นกว่าด้านล่างในการสัมผัสและดมกลิ่นหาทิศทาง
- หอยทากเป็นสัตว์ที่มีทั้งสองเพศ เพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศในตัวเดียว เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์
- หอยทากจะจำศีลในช่วงฤดูหนาว ด้วยการใช้เมือกคลุมตัว ทำให้ผิวของมันชุ่มชื้นตลอดเวลา
- หอยทากกินพืชแทบทุกชนิด และชอบกินปูนฉาบบนผนังบ้านหรือกำแพง เพราะมันมีแคลเซียมที่จะทำให้เปลือกของมันแข็งแรง
ปัจจุบันมีการศึกษาที่กล่าวไว้ว่า หอยทากนั้นสามารถเป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมได้ โดยศึกษาจากโลหะหนักในเนื้อเยื่อของหอยทาก เพื่อติดตามการสะสมของสารพิษในเนื้อเยื่อสัตว์ในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็เป็นส่วนที่ช่วยในกระบวนการย่อยเศษใบไม้จนกลายเป็นปุ๋ยส่งต่อให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโต ให้ร่มเงา และความสุขแก่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงพวกเราด้วย
เรียบเรียง: กชกร รัตนมา นักวิจัย RISC
อ้างอิง
1. จิรศักดิ์ สุจริต และ สมศักดิ์ ปัญหา. 2551. หอยทากบกในอุทยานแห่งชาติเขานัน. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT. โรงพิมพ์กรุงเทพ จำกัด กรุงเทพฯ. 111 หน้า
2. จิรศักดิ์ สุจริต, ปิโยรส ทองเกิด เเละ สมศักดิ์ ปัญหา. 2561. หอยทากบก ทรัพยากรชีวภาพที่ทรงคุณค่าแห่งราชอาณาจักรไทย. จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์: สนับสนุนการวิจัย, สนง. กองทุน กรุงเทพฯ. 288 หน้า
3. ข้อมูลจากเพจ วิทยาศาสตร์ทันโลก และภัยพิบัติในไทย: https://web.facebook.com/tsunamithailandCaltech/posts/2045459972184882?locale2=th_TH&_rdc=2&_rdr