Knowledge - RISC

เลือกต้นไม้และจัดวางแบบไหนในพื้นที่รอบอาคาร?

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

1455 viewer

จากบทความก่อน “ผลสำรวจความคิดเห็นมุมมองต่อต้นไม้รอบอาคารอย่างไร?” (อ่านต่อที่ https://bit.ly/3UpPWTH) เราคงได้เห็นหลากหลายมุมมองทั้งในแง่ดีและผลกระทบที่ได้รับจากการมีต้นไม้รอบๆ อาคารกันมาแล้ว ด้วยการเรียนรู้จากมุมมองเหล่านี้ เราสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ด้วยการจัดวางต้นไม้ให้เหมาะสม​

การจัดวางต้นไม้ในรูปแบบที่มีลักษณะสูง-เตี้ย หนา-บางที่ต่างกัน นอกจากจะช่วยในการสร้างร่มเงาและเพื่อความสวยงามแล้ว ยังสามารถช่วยในการควบคุมทิศทางลมที่จะเข้าสู่อาคารได้ อย่างเช่น หากเราปลูกต้นไม้ให้เป็นพุ่มอยู่ด้านนอก ไม้พุ่มจะช่วยทั้งกรองฝุ่นและบังคับทิศทาง ส่วนด้านในเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นโปร่งด้านล่างและเป็นเรือนยอดด้านบน ลมสามารถพัดลอดเข้าสู่อาคารชั้นล่างได้ หรือหากใช้ไม้พุ่มแน่นที่สูงประมาณ 2 เมตรปลูกเป็นแนวจะช่วยบังลมหรือบังคับทิศทางลม และการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่หรือเป็นแผงค่อนข้างสูงในทางทิศตะวันตกยังสามารถช่วยในการป้องกันแสงแดดที่เอียงต่ำ ลดความร้อนในช่วงบ่ายได้อย่างดี​

การเลือกชนิดของต้นไม้ในการจัดวาง ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมคุณภาพอากาศโดยรอบอาคารได้อีกด้วย ส่งผลดีต่อผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ โดยเลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละออง โดยเฉพาะต้นที่ใบมีขนบนผิวใบ และเมื่อปลูกต้นไม้นี้ให้เป็นแนว และมีหลายๆ ชั้น ก็จะช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้ดียิ่งขึ้น​

พันธุ์ไม้ที่ช่วยดักจับฝุ่นมีทั้งไม้ยืนต้น เช่น คำมอกหลวง และรวงผึ้ง กลุ่มไม้พุ่ม เช่น กรรณิการ์ และโมกหลวง ส่วนกลุ่มไม้เลื้อย เช่น กันภัยมหิดล สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง และพวงคราม ที่สำคัญกลุ่มไม้เลื้อยนี้ยังใช้ในการประดับได้ด้วย จะเห็นได้จากการใช้เป็นซุ้มประตู แต่หากไม่ชอบกลิ่นที่แรงเกินไป อาจจะต้องเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม ส่วนของไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันและลดโอกาสต้นไม้ใหญ่ล้ม ก็ควรเลือกต้นที่มีรากแข็งแรงและไม่ทำลายโครงสร้างอาคาร เช่น กันเกรา และแก้วมุกดา​

เราได้พูดถึงประโยชน์ของการปลูกต้นไม้รอบอาคารไปแล้ว เชื่อว่าถึงตรงนี้ทุกคนคงได้เห็นในมุมมองที่ต่างออกไป ว่าเหตุใดเราจึงควรมีต้นไม้ไว้รอบอาคาร รวมทั้งการเลือกพันธุ์ไม้และทำการจัดวางแบบใดถึงจะเหมาะสม RISC จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาปลูกต้นไม้รอบๆ อาคาร โดยอาจเริ่มจากบ้านตนเองหรือปลูกต้นเล็กๆ ในห้องพักก่อน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปด้วยกัน​

เนื้อหาโดย คุณ ชนัญญา เกษมปิยารมณ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
บ้านและสวน: https://www.baanlaesuan.com/134892/plant-scoop/dust_prevent
บ้านไอเดีย: https://www.banidea.com/shade-trees-with-non-invasive-root-systems/​
หนังสือ: The essential guide to Architecture and Interior designing จาก Instagram : 07sketches​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน