แมลงอะไร? ที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำและดิน
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
“แมลงตัวนั้น ตัวนี้มีเยอะมากมาย ดูไปก็คล้ายๆ กันทุกตัว”...แมลงบนโลกนี้มีเยอะมากมาย แต่ละชนิดก็มีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกันออกไป และวันนี้เป็นวันลอยกระทง แหล่งน้ำบ้านเราคงจะเต็มไปด้วยกระทง และคงมีผลต่อคุณภาพน้ำ ซึ่งอาจทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอย่างสัตว์จำพวก "แมลงน้ำ" ได้รับผลกระทบ
บ้านใครที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ น่าจะเคยเห็น ”กลุ่มแมลงน้ำ” อย่างแน่นอน ซึ่งแมลงเหล่านี้ก็คือ “สัตว์หน้าดิน” ที่ช่วงชีวิตนึงของเค้าจะอาศัยและหากินตามพื้นผิวหน้าดินบริเวณพื้นท้องน้ำในแหล่งน้ำ บางชนิดก็เกาะหรืออาศัยอยู่ตามกองหินหรือขอนไม้ในน้ำ เคลื่อนที่น้อย มีอายุขัยประมาณ 1 ปี แต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน บางกลุ่มไวต่อการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนในน้ำ บางกลุ่มก็มีความทนทาน
แล้วรู้หรือไม่ว่า กลุ่มแมลงเหล่านี้แหล่ะ ที่สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดของแหล่งน้ำได้
ปัจจุบันมีเกณฑ์การให้คะแนนสิ่งมีชีวิตเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ ทั้งวิธีการใช้นาฬิกาสัตว์หน้าดินและแผนภาพการเฝ้าระวังแม่น้ำ (River watch)ซึ่งเป็นเหมือนคู่มือเบื้องต้นที่ใช้สำหรับเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพแหล่งน้ำ โดยเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายในแหล่งน้ำนั้นๆ, การใช้ BMWP Score (Bio-Monitoring Working Party Score) ที่จัดกลุ่มสัตว์หน้าดินชนิดต่างๆ หรือจะเป็นวิธีง่ายๆ อย่างการสังเกตดูด้วยตัวเองจากแหล่งน้ำแถวบ้าน ตัวอย่างเช่น…
หากแหล่งน้ำมีความสะอาด เราก็จะพบสิ่งมีชีวิตกลุ่มตัวอ่อนแมลงน้ำ อย่างพวกตัวอ่อนชีปะขาว ตัวอ่อนแมลงเกาะหิน ส่วนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพไม่ดี เราก็จะพบสิ่งมีชีวิตในกลุ่มหนอนแมลงวันดอกไม้ หนอนริ้นน้ำจืดจำนวนมาก หรือหากเจอกลุ่มที่ทนทาน เช่น หนอนปลอก กลุ่มหนอนแมลงวันมาก แล้วไม่ค่อยเจอกลุ่มอื่นเลย แสดงว่าแหล่งน้ำเริ่มมีคุณภาพไม่ดีแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเจอแค่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีควรเจอสายพันธุ์ที่หลากหลายในปริมาณที่สมดุล
นอกจากแมลงจะบอกคุณภาพน้ำและดินได้แล้ว บางชนิดก็เป็นกลุ่มที่ช่วยควบคุมประชากรในระบบนิเวศได้ด้วย อย่างเช่นแมลงปอ ในระยะตัวอ่อนที่อาศัยในแหล่งน้ำ แมลงปอจะเป็นแหล่งอาหารของปลาและสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันตัวอ่อนแมลงปอก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ล่า จับกินลูกน้ำของยุง ช่วยให้ปริมาณยุงลดลง และเมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยก็จะจับกินแมลงชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร เป็นการช่วยควบคุมแมลงที่เป็นศัตรูพืช หรือแมลงที่สร้างความรำคาญ เช่น ยุง แมลงหวี่ แมลงวัน
ลอยกระทงปีนี้ เราอาจจะลองเปลี่ยนจากการลอยกระทง มาเป็นการดูแลอนุรักษ์แหล่งน้ำแถวบ้านให้สะอาดขึ้น เพราะถือเป็นการขอขมาพระแม่คงคาได้เหมือนกัน และยังเป็นการช่วยควบคุมแมลงรบกวนที่จะเข้ามาทำอันตรายหรือก่อโรคให้กับเรา รวมทั้งยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกทางนึงด้วย
เนื้อหาโดย กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก บุญเสถียร บุญสูง และ นฤมล แสงประดับ. 2547. คู่มือตรวจวัดคุณภาพน้ำด้วยสัตว์หน้าดิน. คณะวิทยาศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Mustow S.E. 2002. Biological Monitoring of River in Thailand: Use and Adaptation of the BMWP score. Hydrobiologia. 479: 191-229
Chanthachuma K. 1986. The dragonfly and its role in mosquito control. Chula Med J May; 30(5): 449-455