"ป่าไม้โลก" กับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
จากบทความก่อนหน้านี้ (https://bit.ly/3qqPepV) เราคงได้เห็นกันแล้วว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณร้อยละ 31-32 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่สำหรับบทความคราวนี้ เรามาลองดูข้อมูลในระดับโลกกัน
จากข้อมูลในปี 2020 โลกของเรามีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 40 ล้านตารางกิโลเมตร (ประมาณ 4 เท่าของประเทศจีน) หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของพื้นที่ผิวดินของโลก โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติร้อยละ 93 และพื้นที่ป่าปลูกร้อยละ 7 แต่เมื่อมาพิจารณาประเทศในอาเซียนที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด เราจะพบว่า 5 อันดับแรก คือ
- ประเทศลาว มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 82.1% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 27,527 ตางรางเมตรต่อคน
- ประเทศบรูไน มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 72.1% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 8,952 ตางรางเมตรต่อคน
- ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 67.6% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 7,145 ตางรางเมตรต่อคน
- ประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 52.9% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 5,748 ตางรางเมตรต่อคน
- ประเทศอินโดนีเซีย มีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 49.8% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 3,387 ตางรางเมตรต่อคน
ส่วนประเทศไทยเรานั้นอยู่อันดับที่ 8 มีพื้นที่ป่าเพียง 32.2% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 2,378 ตางรางเมตรต่อคน
คราวนี้ เราลองมาดูข้อมูลตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (1990-2020) บ้าง และจากข้อมูลก็แสดงให้เห็นว่า โลกของเรายังคงมีพื้นที่ป่าลดลงเหมือนเดิม และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงระหว่างปี 1990-2000 2000-2010 และ 2010-2020 พบว่าโลกของเรามีพื้นที่ป่าไม้ลดลง 78,000 52,000 และ 47,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี ซึ่งยังถือว่ามีสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง เพราะจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าโลกมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงก็จริง แต่แน้วโน้มการลดก็อยู่ในอัตราที่ลดลงด้วยเช่นกัน
จากสถานการณ์ธรรมชาติต่างๆ ของโลกที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกยอมรับกันแล้วว่าทรัพยากรป่าไม้มีความสำคัญต่อมนุษยชาติขนาดไหน เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฏจักรน้ำ พื้นที่ดูดซับคาร์บอน และอื่นๆ อีกมากมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งโลกต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น สำหรับในประเทศไทยก็มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ (จากเดิมที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 31 ในปัจจุบัน) นับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และคนในประเทศ ที่จะช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ขึ้นมาให้ได้ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้
เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2564. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ.2564.
United Nations Department of Economic and Social Affairs, United Nations Forum on Forests Secretariat (2021). The Global Forest Goals Report 2021
FAO. 2020. Global Forest Resources Assessment 2020