เพราะ "อากาศ" สำคัญต่อการมีชีวิตอยู่
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
โดยปกติ คนทั่วไปเมื่อหยุดหายใจ หรือหายใจไม่ได้ 2-3 นาที จะหมดสติ ถ้าหยุดหายใจนาน 5 นาที หัวใจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ และเมื่อหยุดหายใจนานประมาณ 8 นาที หัวใจจะเริ่มเต้นอ่อนลง และหากเกิน 8 นาทีขึ้นไป หัวใจมักจะหยุดเต้น
เราจะเห็นได้ว่า “อากาศ” นั้นสำคัญเป็นอย่างมากต่อการมีชีวิต แม้จะมองไม่เห็น แต่เราต้องสูดอากาศหายใจตลอดเวลา และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกลมหายใจที่เราสูดอากาศเข้าสู่ร่างกาย
แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไร? ว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปสะอาดและปลอดภัย เพราะมลพิษทางอากาศวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราตลอดเวลา ทั้งฝุ่นละออง ก๊าซชนิดต่างๆ และอนุภาคของแข็งขนาดเล็ก ซึ่งสิ่งเจือปนเหล่านี้มีผลเสียต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีการศึกษาพบว่า ในปี 2020 มีคนเสียชีวิตกว่า 160,000 รายจากมลพิษทางอากาศ สาเหตุหลักมาจากโรคหัวใจและภาวะทางเดินหายใจ และจากการศึกษาพบว่า คุณภาพอากาศภายในอาคารนั้นสัมพันธ์กับคุณภาพหรือมลพิษของอากาศภายนอกด้วย โดยอากาศภายในจะมีความเข้มข้นของมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกอาคารถึง 2-5 เท่า
การสะสมมลพิษภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็น PM2.5 PM10 หรือโอโซน ซึ่งได้รับอิทธิพลโดยตรงจากอากาศภายนอกอาคาร ก็ยังมีแหล่งกำเนิดมลพิษภายในอาคาร ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในการใช้ชีวิต เช่น น้ำยาทำความสะอาด การประกอบอาหาร รวมถึงมลพิษทางอากาศที่มาจากวัสดุภายในอาคาร อย่างพื้นหินบางชนิดที่ปล่อยก๊าซเรดอน วัสดุที่มีการปล่อยสารระเหย VOCs หรือไรฝุ่นในอาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสารก่อโรคภูมิแพ้ในมนุษย์
การดูแลคุณภาพอากาศภายในอาคาร จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพของเราเอง และควรทำเป็นประจำ เพราะในแต่ละวันเราใช้ชีวิตอยู่ในอาคารกว่า 90% เช่น การหมั่นทำความสะอาดบ้าน การเปิดหน้าต่างให้เกิดการระบายอากาศ เพื่อนำอากาศเสียออกนอกอาคาร แต่เมื่อคุณภาพอากาศภายนอกไม่ดี เราควรปิดหน้าต่างและใช้อากาศภายในอาคารที่มีการปรับปรุงให้มีคุณภาพดีโดยการใช้ระบบการฟอกอากาศภายในอาคาร พร้อมการเติมอากาศดีเข้ามาภายในอาคาร โดยอากาศบริสุทธิ์ที่เข้ามาเติมภายในอาคารจะต้องผ่านการกรองอากาศจากฟิลเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่สามารถกรอง PM2.5 ได้ เพื่อให้เรามั่นใจว่าอากาศที่นำเข้ามาในอาคารเป็นอากาศสะอาดที่เราจะใช้ในการหายใจได้อย่างมีคุณภาพที่ดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงจากโรคร้ายที่เรามองไม่เห็น
เนื้อหาโดย ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิจัย RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.doctor.or.th/article/detail/5409
https://www.iqair.com/th/newsroom/outdoor-air-pollution-effects-on-indoor-air
Landrigan PJ, et al. (2017). The Lancet Commission on pollution and health. The Lancet. DOI: 10.1016/S0140-6736(17)32345-0