Knowledge - RISC

"Biophilic Design" ยกธรรมชาติมาไว้ในอาคาร

เขียนบทความโดย RISC | 11 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 11 เดือนที่แล้ว

2696 viewer

“ในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์นั้นมีความโหยหาต้องการที่จะเชื่อมต่อกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยกำเนิด หรือเป็นสัญชาตญาณของการดำรงชีวิต นั่นก็เพราะทำให้เกิดความสมดุลในจิตใจและช่วยลดความเครียด” โดยเอ็ดเวิร์ด โอ วิลสัน (Edward O. Wilson) นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ที่ได้ระบุถึง “Biophilia” เอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1984​

จากคำพูดดังกล่าว จึงก่อเกิดแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “Biophilic Design” หรือก็คือการส่งเสริมให้มนุษย์ได้เชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งานอาคาร ซึ่งมีหลักการเบื้องต้นในการออกแบบตามนี้ คือ...​
1. การใช้องค์ประกอบของธรรมชาติในการออกแบบ เช่น การใช้สีเอิร์ธโทน การมีพื้นที่น้ำ มีแสงแดด และการใช้พืชพรรณจริงในการออกแบบสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดการสัมผัสโดยตรงต่อผู้ใช้งานอาคาร เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเครียดและสร้างความผ่อนคลายได้  ​
2. การใช้รูปทรงของธรรมชาติในการออกแบบ เช่น ลวดลายของพฤกษศาสตร์ วงรี เส้นโค้ง ลายก้นหอย หรือลวดลายสัตว์ มาใช้ในการออกแบบพื้นที่ รวมไปถึงงานประติมากรรมและรายละเอียดในการตกแต่งลวดลายเล็กๆ น้อยๆ ​
3. การผสมผสานคุณสมบัติทางธรรมชาติเข้ากับการออกแบบ สร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของผู้ใช้งานพื้นที่ ทั้งภาพ เสียง กลิ่น และการสัมผัส​
4. การออกแบบความหลากหลายของแสงและสร้างความสัมพันธ์ต่อพื้นที่ เช่น การใช้แสงธรรมชาติ แสงแบบกระจาย เงา ความกลมกลืนของพื้นที่ และความสัมพันธ์ของพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร​
5. การออกแบบอิงสถานที่ โดยมุ่งเน้นไปที่ความเชื่อมโยงกับนิเวศวิทยาและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น การออกแบบที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาในพื้นที่ สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกถึงการบำบัดเยียวยาได้​
6. การสร้างค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการเห็นคุณค่าและดึงดูดความงามต่อธรรมชาติ​

หลังจากที่คนเริ่มให้ความสนใจเรื่องสุขภาวะมากขึ้น Biophilic Design จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจุบันก็มีงานวิจัยมากมายที่ชี้วัดถึงประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของพื้นที่สีเขียว อย่างเช่น 10% ของการขาดลางานของพนักงานบริษัท สัมพันธ์กับการทำงานที่ปราศจากการเข้าถึงธรรมชาติ หรือผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาลที่สามารถมองเห็นวิวธรรมชาติจากห้องพักฟื้น จะมีผลให้ระยะเวลาในการพักฟื้นตัวของผู้ป่วยลดลงถึง 8.5% ​

WELL-Building Standards ก็เป็นอีกมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างในหมวดของ MIND (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/464PsoS) ก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ Biophilic Design เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น…​
• การใช้วัสดุ สี รูปทรง หรือภาพของธรรมชาติ แทรกพื้นที่ภายในอาคาร​
• การตั้งกระถางต้นไม้ ผนังต้นไม้ หรือสามารถเห็นวิวธรรมชาติ​
• การส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติของผู้ใช้งานอาคาร โดยอย่างน้อย 75% ของพื้นที่นั่งทำงาน หรืออยู่ในระยะ 33 ฟุตต้องสามารถมองเห็นต้นไม้ แหล่งน้ำ หรือภาพวิวธรรมชาติได้โดยตรง​
• การเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติภายนอกอาคาร โดยอย่างน้อย 70% จะต้องสามารถมองเห็นได้จากด้านบนอาคาร ซึ่งพื้นที่ภายนอกนั้น ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบของธรรมชาติ ร่มไม้ และพื้นที่สีเขียวจะต้องอยู่ในระยะเดินถึงได้ใน 650 ฟุต จากขอบเขตของอาคาร​

เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
Elzeyadi, I. “Daylighting-Bias and Biophilia: Quantifying the Impacts of Daylight on Occupants Health.” In: Thought and Leadership in Green Buildings Research. Greenbuild 2011 Proceedings. Washington, DC: USGBC Press. 2011. ​
Ulrich, R. S. “View through a window may influence recovery from surgery” Science, Vol. 224. 1984.​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน