RISC

พื้นที่สีเขียวในโครงการอสังหาริมทรัพย์สามารถกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไหร่?

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

1006 viewer

จากบทความก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงสัดส่วนการกักเก็บคาร์บอนตามส่วนต่างๆ ของต้นไม้ และปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถกักเก็บได้ (http://bit.ly/3M7OMbz) กันไปแล้ว สำหรับในบทความนี้เราจะมาดูภาพใหญ่มากขึ้น อย่างพื้นที่สีเขียวในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โดยวันนี้เราจะมาดูโครงการอสังหาริมทรัพย์เดอะฟอเรสเทียส์ (The Forestias) ว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้แค่ไหน?​

RISC ได้ร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา และคณะ ได้ลงพื้นที่การศึกษาปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินในพื้นที่สีเขียวของโครงการอสังหาริมทรัพย์เดอะฟอเรสเทียส์ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2565 โดยทีมผู้วิจัยได้วางแปลงเก็บข้อมูลในพื้นที่สีเขียวของโครงการฯ โดยแบ่งเป็น 4 โซนตามแนวคิดของโครงการ ได้แก่​
• Evergreen Zone (ป่าไม่ผลัดใบ)​
• Deep Forest Zone (ป่านิเวศธรรมชาติ)​
• Edible Zone (ป่ากินได้)​
• Fragrant Zone (ป่าไม้ดอกและไม้หอม)​

ซึ่งการเก็บข้อมูลจะใช้การวัดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับอก (Diameter at breast height) หรือที่ความสูงจากพื้นดิน 130 เซนติเมตร และวัดความสูงของต้นไม้ จากนั้นจะนำมาเข้าสมการแอลโลเมตรี (Allometric equation) เพื่อหาปริมาณมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน (Aboveground biomass) แล้วนำไปหาค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับได้ ​

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ปริมาณการกักเก็บก๊าซคคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละโซนแตกต่างกัน โดย Evergreen Zone ดูดซับได้ 254-314 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent) ถัดมาได้แก่ Fragrant Zone, Edible Zone และ Deep forest ดูดซับได้ 217-261, 30-38 และ 6-8 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบด้วยพื้นที่ 10 ตารางเมตรซึ่งค่าที่แตกต่างกันนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากระยะเวลาในการเริ่มปลูกต้นไม้และอัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่แตกต่างกัน​

ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาระยะสั้นเท่านั้น และยังคงต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ และนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางในจัดการพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะด้านการเก็บกักคาร์บอนและบรรเทาภาวะโลกร้อนต่อไป ​

เนื้อหาโดย คุณ สุธินี อ่อนอ่วม นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องคก์ารมหาชน). 2564. T-VER-TOOL-FOR/AGR-01 การคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ (Calculation for Carbon Sequestration) (ฉบับที่ 4). กรุงเทพมหานคร: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน).​