“Indoor plant” การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และพืช
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
เราปลูกต้นไม้ไว้เพื่ออะไร?
สำหรับหลายๆ คน คำถามนี้น่าจะมีคำตอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อความสวยงาม ให้ร่มเงา ลดความร้อน ป้องกันฝุ่น บังสายตาจากคนภายนอก หรือแม้แต่เป็นอาหาร
ขณะที่บางคน ปลูกต้นไม้ไว้เป็นเพื่อเป็นเพื่อนเช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ แม้ต้นไม้เดินหรือกระโดดไม่ได้ แต่ก็มีงานวิจัยรองรับแล้วว่า การได้มองสีเขียวจากต้นไม้ ช่วยทำให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลายได้เหมือนกัน นอกจากนี้ การได้เห็นการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก เช่น การแตกใบใหม่ หรือการออกดอก ล้วนช่วยเติมเต็มความรู้สึกให้หลายๆ คนได้มากเลยทีเดียว
อย่างที่เราทราบกัน ต้นไม้มีกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) ที่ใช้แสงอาทิตย์ น้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) เมื่อมีการนำพืชมาไว้ในอาคารที่ได้รับแสงน้อย จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการนี้โดยตรง แต่ก็มีต้นไม้บางชนิดสามารถทนต่อสภาวะแสงน้อย ไม่จำเป็นต้องได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง หรือสามารถรับแสงจากหลอดไฟได้ ทำให้ต้นไม้พวกนี้ได้รับความนิยมนำมาปลูกภายในอาคาร และเราเรียกต้นไม้เหล่านี้ว่า "พรรณไม้ในที่ร่ม" หรือ "พืชภายในอาคาร (Indoor plant)" นั่นเอง
การค้นพบต้นไม้กลุ่มนี้ ทำให้มนุษย์สามารถนำสีเขียวจากธรรมชาติมาออกแบบมุมผ่อนคลายภายในอาคารได้ ซึ่งต้นไม้ที่นิยมก็มีเช่น ไทรใบสัก (Ficus lyrata Warb.), พลูด่าง (Epipremnum aureum (Linden & André) G.S.Bunting), กวักมรกต (Zamioculcas zamiifolia (G.Lodd.) Engl.) หรือกลุ่มฟิโลเดรนดอน (Philodendron spp.) นอกจากนี้ ยังพบพรรณไม้ในที่ร่มบางกลุ่มที่มีความสามารถในการดูดซับอากาศที่เป็นพิษจากสารจำพวกไอระเหยของฟอร์มาดีไฮต์ ไซลีน โทลูอีน เบนซิน แอมโมเนีย และแอลกอฮอล์ ภายในห้องได้ จึงเรียกต้นไม้กลุ่มนี้ว่า "พืชฟอกอากาศ" อย่างเช่น ลิ้นมังกร (Dracaena trifasciata (Prain) Mabb.), ยางอินเดีย (Ficus elastica Roxb. ex Hornem.), กลุ่มมอนสเตอร่า (Monstera spp.), ปาล์มไผ่ (Chamaedorea seifrizii Burret) หรือกลุ่มเดหลี (Spathiphyllum spp.)
จะเห็นได้ว่า นอกจากเป็นมุมสีเขียวสำหรับพักผ่อนแล้ว กลุ่มพืชฟอกอากาศ ยังมีส่วนช่วยในการกำจัดสารพิษในอากาศได้้อีกด้วย แต่สภาพแวดล้อมภายในอาคารต่างกับภายนอกอาคารเป็นอย่างมาก ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกภายในอาคารจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เช่น ความชื้นที่มากเกินไปก็เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา จึงไม่ควรรดน้ำบ่อยเกินไป และหมั่นสังเกตอาการพืชอย่างสม่ำเสมอ
"พืชภายในอาคาร (Indoor plant)" อาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอีกก้าวของการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างมนุษย์และพืชอย่างแท้จริง การนำต้นไม้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรา จึงควรดูแลซึ่งกันและกัน ต้นไม้ให้ประโยชน์กับเรา และเราก็ควรดูแลต้นไม้ให้ดีที่สุดเช่นกัน
เนื้อหาโดย คุณ ธีรเจต เอี่ยมพันธ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
JOMM YB. 2023. รวม ต้นไม้ฟอกอากาศ และดูดสารพิษได้ และตำแหน่งที่ควรปลูกในบ้าน. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.baanlaesuan.com/139157/plant-scoop/air-purification-tree
AP THAILAND. 2021. 10 ต้นไม้ฟอกอากาศ ที่ช่วยดูดสารพิษ คืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ห้องนอนของคุณ. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.apthai.com/th/blog/design-and-decor/designanddecor-air-purifying-plants-for-bedroom
MONIQUE C. VALERIS and KATARINA AVENDAÑO. 2023. 22 Best Indoor Plants for Any Room. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.goodhousekeeping.com/home/gardening/advice/g1285/hard-to-kill-plants/
Agnes van den berg and Magdalena Van den Berg. 2015. Health benefits of plants and green space: Establishing the evidence base. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.researchgate.net/publication/282426219_Health_benefits_of_plants_and_green_space_Establishing_the_evidence_base