ต้นไม้พันธุ์ไหน? โตได้ดีในพื้นที่ป่านิเวศในเมือง
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
เราอาจจะคุ้นเคยกับการปลูกป่าในพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ แต่...ถ้าเปลี่ยนมาเป็น "ปลูกป่าสำหรับในเมือง" ล่ะ จะเป็นอย่างไร? แล้วพืชชนิดใดที่ตอบโจทย์กับสภาพพื้นที่แบบนี้?
การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองในรูปแบบป่านิเวศ กำลังได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน อย่างโครงการ The Forestias ก็ได้มีการสร้างพื้นที่สีเขียวแบบป่านิเวศขนาดใหญ่ถึง 30 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็น ป่าธรรมชาติ (ไม่ให้คนเข้าพื้นที่) (Deep Forest), ป่าพืชไม้ผลัดใบ (Evergreen Forest), ป่าพืชที่กินได้ (Edible Forest) และป่าพืชที่มีดอกและกลิ่นหอม (Fragrance Forest) ซึ่งทุกพื้นที่ได้ใช้วิธีการปลูกป่านิเวศแบบมิยาวากิ (Miyawaki Method) เป็นการปลูกโดยใช้พันธุ์พืชในท้องถิ่นหลากหลายชนิด หลากหลายโครงสร้างทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้พื้นล่าง มาปลูกผสมกันแบบสุ่ม แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดหรือนำมาอ้างอิงได้ว่า พืชชนิดใดที่เหมาะสมมากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ในเมือง
นักวิจัยจาก RISC จึงได้ลงพื้นที่ร่วมกับนักศึกษาฝึกงานภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกจากต้นกล้า โดยการวัดความสูง และเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นที่ระดับอก (Diameter at breast height, DBH) ของต้นไม้มากกว่า 150 ชนิด เพื่อหาไม้ยืนต้นที่สามารถเจริญเติบโตได้เร็วและมีชีวิตรอดในการสร้างป่าของโครงการ ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลในเบื้องต้น พบว่าพืชที่มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วสูงสุดในช่วง 2 ปีแรก คือ พฤกษ์ มะเดื่ออุทุมพร แคนา สำโรง เพกา ทิ้งถ่อน ตะขบ มะเฟือง และมะรุม ที่อาจจะได้เลือกเป็นกลุ่มไม้เบิกนำ (Pioneer trees) สำหรับการสร้างป่าในเมืองในอนาคต อย่างไรก็ตาม ชนิดพืชที่โตได้เร็วเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการสร้างป่า แต่ยังไม่ได้บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนของป่าที่สร้างขึ้น
ทีมวิจัยหวังว่าการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ทราบถึงชนิดของพันธุ์พืชที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การจัดกลุ่มชนิดพืชที่แนะนำสำหรับการสร้างป่านิเวศในเมืองที่เหมาะสม เช่น กลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กลุ่มที่ค่อยๆ เติบโตและมีชีวิตยืนยาว และกลุ่มที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น และยังเป็นฐานข้อมูลหนึ่งที่รวบรวมชนิดพืชแนะนำในการสร้างป่านิเวศในเมืองของประเทศไทย ที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นแนวทางในการสร้างพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองอื่นๆ ได้ในอนาคต
เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC และ คุณ ภคภร คำโสภา ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล