กว่าจะมาเป็นต้นไม้ที่สวยงามในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
เวลาที่เราไปเข้าชมหรือซื้อบ้านจัดสรร คอนโดต่างๆ เคยสงสัยมั้ยครับว่า ต้นไม้ใหญ่สวยๆ ภายในโครงการมาจากไหน?
แน่นอนครับ ว่าต้นไม้เหล่านี้ไม่ได้โตในพื้นที่โครงการ แต่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ถูก “การล้อมย้าย” (Transplanting)" ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่การขุดล้อม การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งและลดการคายน้ำ การขนส่ง การดูแลรักษาก่อนนำมาปลูก และการลงปลูกในพื้นที่ปลายทาง โดยทุกขั้นตอนมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นช่วงที่ต้นไม้อ่อนแอที่สุด เนื่องจากส่วนของรากที่นำน้ำและธาตุอาหารมาหล่อเลี้ยงต้นไม้จะหายไปถึงร้อยละ 80-90 และส่วนของใบที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างพลังงานก็มีจำนวนลดลง กระบวนการต่างๆ จึงต้องพิถีพิถัน เพื่อรักษาต้นไม้ให้อยู่รอดปลอดภัย
โดยทั่วไป การขุดล้อมต้นไม้จะมีอยู่ 3 แบบ ก็คือ...
- การขุดล้อมแบบเปลือยราก (Bare root) คือเอาดินที่ติดรากออก แล้วยกต้นไม้ไปปลูกอีกจุดหนึ่ง ข้อดีก็คือน้ำหนักเบา ลดการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ข้อเสียคือต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากรากต้นไม้สัมผัสกับอากาศโดยตรง ไม่สามารถดูดซึมน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ได้ จึงเหมาะกับต้นไม้ขนาดเล็ก หรือย้ายในพื้นที่ใกล้ๆ รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นดินทรายที่ดินไม่เกาะกันเป็นก้อน
- การขุดล้อมแบบทำตุ้มดิน (Soil Ball หรือ Balled & Burlapped) เป็นอีกวิธีที่นิยมในประเทศไทย โดยจะขุดและห่อหุ้มดินบริเวณรอบโคนต้นไม้ให้มีดินและรากไปพร้อมกับต้นไม้ ช่วยรักษาระบบราก สะดวกในการขนส่ง และมีระยะเวลาทำงานได้นาน แต่ข้อเสียก็คือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากทำให้ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายสูง และต้องระวังไม่ให้ตุ้มดินแตก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อระบบรากต้นไม้
- การขุดล้อมแบบกล่อง (Box method หรือ Plant containerize) เป็นวิธีที่มีหลักการคล้ายกับการขุดล้อมแบบตุ้มดิน แต่มีข้อแตกต่างคือการทำโครงสร้างรอบตุ้มดินเพื่อป้องกันตุ้มดินแตก เพราะต้องเก็บพื้นที่รากให้มากที่สุด จึงทำให้มีขั้นตอนและมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น วิธีนี้จะนิยมใช้ในการล้อมย้ายต้นไม้ใหญ่ในต่างประเทศที่อยู่ในเขตหนาว
จากทั้ง 3 วิธี เรายังต้องพิจารณาในเรื่อง "ระยะเวลาการล้อมย้าย" ต้นไม้บางชนิด อย่างเช่น จามจุรี ชงโค แคนา สามารถล้อมย้ายได้ทันที หรือเรียกว่า “การล้อมสด” ด้วยการตัดแต่งกิ่ง ขุดทำตุ้มดินและห่อหุ้ม แล้วย้ายมาปลูกในที่ใหม่ หรือนำมาอนุบาลในที่อนุบาลต้นไม้ แต่ก็มีต้นไม้บางชนิดทำแบบนั้นไม่ได้ อย่างกลุ่มไม้ผล เช่น มะม่วง มะตาด จำเป็นต้องมีการขุดทำตุ้มดินและตัดรากบางส่วนออก แล้วใส่วัสดุปลูก เช่น ขุยมะพร้าว กลับเข้าไป ก่อนทิ้งไว้เพื่อให้รากแตกออกมา จากนั้นจึงห่อหุ้มทำตุ้มดินแล้วยกออกจากพื้นที่ ซึ่งเราเรียกว่า “การขุดล้อมแบบคาหลุม”
นอกจากนี้ "ช่วงเวลาการล้อมย้าย" ก็มีส่วนสำคัญต่อการรอดเช่นกัน กลุ่มต้นไม้ผลัดใบ (Deciduous) ที่จะทิ้งใบในช่วงฤดูแล้งเพื่อลดการใช้น้ำ ต้นไม้กลุ่มนี้จะเก็บสะสมพลังงานไว้ตามส่วนต่างๆ เพื่อใช้ในช่วงที่ไม่มีใบไม้มาสร้างพลังงาน และจะนำพลังงานที่สะสมมาใช้ในช่วงที่ต้นไม้แตกใบใหม่ ซึ่งส่วนมากในประเทศไทยจะเป็นช่วงฤดูต้นฝน (พฤษภาคม-มิถุนายน) จึงไม่ควรล้อมย้ายต้นไม้ในช่วงแตกใบ ส่วนของต้นไม้กลุ่มไม่ผลัดใบ (Evergreen) ที่มีใบตลอดปี สามารถล้อมย้ายได้ตลอด
เราจะเห็นได้ว่า การขุดล้อมต้นไม้จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ทั้งชนิดพันธุ์ ขนาดของต้นไม้ ระยะทางในการขนส่ง งบประมาณ ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจเลือกวิธีการและขนาดของเครื่องจักร แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรคำนึงถึงก็คือ “การคัดเลือกชนิดพันธุ์ต้นไม้ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ที่จะย้ายไปปลูก” (Choose the right tree for the right place) เพราะต้นไม้แต่ละชนิดจะแข็งแรงและเติบโตได้ดีในสถาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้แต่ละชนิด ก็จะช่วยให้ต้นไม้อยู่รอดและเติบโตได้ดีที่สุด
เนื้อเรื่องโดย ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC
เอกสารอ้างอิงจาก International Society of Arboriculture (ISA). 2010. Arborists’ Certification Study Guide. United States of America.
เดชา บุญค้ำ. 2543. ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
เอื้อมพร วีสมหมาย. 2554. การขุดล้อม การปลูกและการค้ำยันต้นไม้สำหรับงานภูมิทัศน์ในประเทศไทย (Tree transplanting and supporting for landscape works in Thailand). กรุงเทพฯ