ค้ำยั้นต้นไม้ได้มากกว่าความมั่นคง
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
จากโพสต์ที่แล้ว เรารู้ถึงที่มาที่ไปของต้นไม้ใหญ่สวยๆ ในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ กันไปแล้ว แต่หลังจากที่ล้อมต้นไม้มาลง ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ต้องทำเสมอ
ก่อนอื่นเราต้องไม่ลืมว่า ระบบรากต้นไม้ที่ล้อมย้ายจะหายไปถึงร้อยละ 80-90 ซึ่งรากต้นไม้ (Root) นอกจากจะมีหน้าที่ในการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุอาหารส่งขึ้นไปหล่อเลี้ยงส่วนด้านบนแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ช่วยค้ำจุนให้ต้นไม้สามารถยืนลำต้นได้อย่างมั่นคง เมื่อการล้อมย้ายทำให้มีรากไม่มากพอที่จะช่วยพยุงลำต้น มนุษย์จึงได้คิดค้นวิธีที่ช่วยทำให้ต้นไม้ยืนต้นได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง นั่นก็คือ “การค้ำยันต้นไม้”
การค้ำยันต้นไม้มีหลากแบบครับ ขึ้นกับขนาดต้นไม้ ลักษณะความเสี่ยงการเกิดอันตรายต่อคนในพื้นที่ ลักษณะของพื้นที่ และงบประมาณ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการค้ำยันก็คือ “ความมั่นคง” เพราะหากล้ม ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสุขภาพต้นไม้ แต่ยังอันตรายต่อคนและความเสียหายต่อทรัพย์สินอื่นๆ อีกด้วย
โดยทั่วไปการค้ำยันจะแบ่งได้เป็น 5 แบบ คือ...
1. ค้ำยันเดี่ยว เป็นการใช้เสายึดปักลงดินแนวดิ่งหรือแนวเอียงเสาเดียวแล้วผูกยึดไว้กับต้นไม้ เหมาะกับต้นไม้ขนาดเล็ก
2. ค้ำยันแบบ 2 หลัก เหมาะกับต้นไม้ที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิด โดยเป็นการปักหลัก 2 เสา แล้วผูกโยงเสากับลำต้นด้วยสายรัดไว้
3. ค้ำยันแบบคอก จะมีความแข็งแรงมากกว่าแบบ 2 หลัก เป็นการปักเสาทั้งหมด 4 เสารอบต้นไม้ แล้วยึดต่อกันด้วยวัสดุแข็ง (rigid body) โดยทั่วไปจะเป็นวัสดุเดียวกับเสา เช่น ไม้ ตัวยึดเสานี้จะแนบข้างลำต้นทั้ง 4 ด้าน ช่วยรับแรงที่เกิดจากลม ป้องกันต้นไม้ล้มได้
4. ค้ำยันแบบกระโจม มีความแข็งแรงมากกว่าแบบอื่นๆ เป็นค้ำยันที่เหมาะกับต้นไม้ขนาดใหญ่ ใช้เสาตั้งแต่ 3 เสา ขึ้นไป เสาจะตั้งเป็นแนวเฉียงเข้าหาต้นไม้ และยึดเสาแต่ละเสาด้วยกันเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้าง
5. ค้ำยันใต้ดิน เป็นค้ำยันที่มีเสาและโครงสร้างยึดบริเวณตุ้มดิน อาจมีบางส่วนที่สูงกว่าผิวดินเล็กน้อย เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่อยากให้ค้ำยันต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ สามารถใช้ได้กับต้นไม้ขนาดเล็กถึงกลาง
นอกจากรูปแบบการค้ำยันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของขนาดและวัสดุที่ใช้อีกด้วย ซึ่งจะมีผลต่องบประมาณ ความแข็งแรง และความคงทน โดยวัสดุที่ใช้จะมี 3 ชนิด คือ
1. เหล็ก เหมาะกับต้นไม้ขนาดใหญ่และตั้งอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อคนสูงเมื่อเกิดการโค่นล้ม มีความมั่นคงแข็งแรง มีอายุการใช้งานที่นาน แต่ก็มาด้วยราคาที่สูงมากกว่าแบบอื่น
2. ไม้ เหมาะกับต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่และอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อคนต่ำเมื่อเกิดการโค่นล้ม โดยไม้ที่นิยมใช้จะเป็นพวกไม้ยูคาลิปตัส ไม้สน ข้อดีคือมีราคาต่ำ แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่มีอายุการใช้งานสั้นไม่เกิน 1 ปี
3. สลิง เหมาะกับต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ หรือการปลูกต้นไม้ในกระบะปลูกที่ไม่เอื้อต่อการใช้ค้ำยันไม้และเหล็ก มีข้อดีคือช่วยพรางสายตา แต่ก็จะมีต้นทุนที่สูงกว่าใช้ไม้
เห็นไหมครับว่ากว่าจะได้ต้นไม้ต้นหนึ่งที่ล้อมย้ายมา ต้องมีการะบวนการต่างๆ มากมาย ทุกกระบวนการล้วนมีรายละเอียดในการดำเนินงานเพื่อช่วยรักษาต้นไม้ให้มีชีวิตรอด เพราะต้นไม้ทุกต้นล้วนมีค่า ทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม ถ้าต้นไม้มีสุขภาพที่ดีก็จะทำหน้าที่ได้อย่างดี และส่งผลถึงความเป็นอยู่ที่ดีต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน
เนื้อเรื่องโดย ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC
เอกสารอ้างอิงจาก International Society of Arboriculture (ISA). 2010. Arborists’ Certification Study Guide. United States of America.
เดชา บุญค้ำ. 2543. ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
เอื้อมพร วีสมหมาย. 2554. การขุดล้อม การปลูกและการค้ำยันต้นไม้สำหรับงานภูมิทัศน์ในประเทศไทย (Tree transplanting and supporting for landscape works in Thailand). กรุงเทพฯ