บริการของระบบนิเวศคืออะไร?
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
การเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมทำให้เมืองเกิดการขยายตัวตามมา แต่...เมืองที่โตขึ้น ก็ต้องแลกกับการมีพื้นที่สีเขียวบางส่วนหายไป ซึ่งที่ผ่านมา การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักออกแบบและสถาปนิกนั้นได้ให้ความสำคัญ
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างพื้นที่ภูมิทัศน์ (Landscape) การทำป่าจำลอง (Eco-Forest) การทำสวนแนวตั้ง (Green Wall) หรือแม้แต่การทำหลังคาเขียว (Green Roof) ซึ่งประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองต่อผู้คนสามารถชี้วัดออกมาได้หลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “บริการของระบบนิเวศ” (Ecosystem Services)
เชื่อว่า เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะเริ่มงงว่า “ทำไมระบบนิเวศถึงบริการได้?” “ไม่ใช่คนจะบริการได้อย่างไร?”...ซึ่งจริงๆ แล้ว คำว่า “บริการ” ที่ว่า ไม่ใช่การดูแล รับใช้ หรือการให้ความสะดวกต่างๆ
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ “บริการของระบบนิเวศ” ก็คือ ประโยชน์ที่มนุษย์จะได้รับจากระบบนิเวศ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมนั่งเอง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ด้าน ก็คือ...
1. บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (Provisioning services) คือ การให้บริการวัตถุดิบในการผลิต อุปโภค และบริโภค เช่น เป็นแหล่งอาหาร หรือแหล่งสมุนไพร
2. บริการด้านการควบคุมกลไกของระบบ (Regulating services) คือ การควบคุมปรากฏการณ์และกระบวนการทางธรรมชาติของระบบนิเวศ เช่น การควบคุมคุณภาพอากาศและแหล่งน้ำ หรือการควบคุมศัตรูพืช
3. บริการด้านวัฒนธรรม (Cultural services) คือ ประโยชน์ทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการศึกษา เช่น คุณค่าทางศาสนาและจิตวิญญาณ หรือความหลากหลายทางวัฒนธรรม
4. บริการด้านการสนับสนุน (Supporting services) คือ กระบวนการที่สนับสนุนบริการอื่นๆ เช่น การสังเคราะห์แสงของพืช หรือการหมุนเวียนธาตุอาหาร
RISC ร่วมมือกับ ภาควิชาชีวิวทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจวัฒนา และนายเอเชีย เล็กกุล ได้ศึกษาบริการของระบบนิเวศในพื้นที่สีเขียวของโครงการอสังหาริมทรัพย์เดอะฟอเรสเทียส์ (The Forestias) ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 - เมษายน 2565 โดยแบ่งพื้นที่ออกระบบนิเวศหลัก 3 ระบบ คือ ระบบนิเวศป่าจำลอง ระบบนิเวศแหล่งน้ำ และระบบนิเวศหลังคาเขียว และใช้เกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ด้าน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
จากการเก็บข้อมูล พบว่าระบบนิเวศป่าจำลองมีบริการทางนิเวศอยู่ในระดับค่อนข้างดี เพราะมีพืชพันธุ์หลากหลายชนิดและมีจำนวนค่อนข้างมาก ส่วนในระบบนิเวศหลังคาเขียวที่ตั้งอยู่บนหลังคาอาคาร Forest Pavilion นั้นมีบริการของระบบนิเวศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากเป็นหลังเขียวเป็นแบบ Extensive Green Roof ที่มีระดับดินตื้น ไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ แต่ก็จะมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการช่วยลดพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ส่วนระบบนิเวศแหล่งน้ำมีบริการของระบบนิเวศอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เนื่องจากโครงการยังอยู่ในระยะกำลังดำเนินการก่อสร้าง จึงยังไม่ได้เปิดใช้งานระบบอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น ทางโครงการมีแผนการดูแลพื้นที่ที่ชัดเจน ทำให้มีแนวโน้มว่า บริการของระบบนิเวศของพื้นที่ศึกษาทุกแหล่งจะมีระดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ข้อมูลจากการศึกษาที่ได้มา จะสามารถนำมาช่วยพัฒนาการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนในพื้นที่สีเขียวของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการสร้าง “พื้นที่สีเขียว” ไปพร้อมกับการสร้างเมืองได้ต่อไป
เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC และ คุณ เอเชีย เล็กกุล นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิงข้อมูลจาก
ปุณยนุช รุธิรโก. 2556. ความยั่งยืนในการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง. วารสารสุทธิปริทัศน์. 27.
Costanza, R., Arge, R., Groot, R.D., Farber, S., Grasso, M., Hannon, B., Limburg, K., Naeem, S., Neil, R.V.O., Paruelo, J., Raskin, R.G., Sutton, P. and Belt, M.V.D. 1997. The value of the world’s ecosystem services and natural capital. Nature. 387: 253–260.
Francis, L.F.M. and Jensen, M.B. 2017. Benefits of green roofs: a systematic review of the evidence for three ecosystem services. Urban Forestry & Urban Greening. 28: 167–176. doi: 10.1016/j.ufug.2017.10.015
Hoeben, A.D. and Posch, A. 2021. Green roof ecosystem services in various urban development types: a case study in Graz, Austria. Urban Forestry & Urban Greening. 62: 127167. doi: 10.1016/j.ufug.2021.127167