RISC

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

เขียนบทความโดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 สัปดาห์ที่แล้ว

393 viewer

“ขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย”...ประโยคนี้มักเป็นข้อความฝากทิ้งท้ายหลังเหตุการณ์เลวร้ายเสมอ​

เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในเมืองไทย จึงทำให้หลายภาคส่วนมักมองข้ามเรื่องสำคัญไป นั่นก็คือเรื่อง “โครงสร้างอาคาร”​

โครงสร้างอาคารมีความสำคัญแค่ไหน? ยังไง?​
ทำไมจึงต้องมีการรับประกันความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ในเมื่ออาคารโดยทั่วไปก็อยู่ได้เป็นร้อยปีอยู่แล้ว?​

เชื่อว่าคำถามนี้ ได้รับคำตอบอย่างประจักษ์แล้ว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และนับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคนไทย และยังถือเป็นการพิสูจน์ผลงานด้านวิศวกรรมของวิศวกรโครงสร้าง และผู้รับเหมาก่อสร้างได้เป็นอย่างดี​

การออกแบบ และการคำนวณโครงสร้างอาคารที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสูง รวมถึงศาสนสถาน และอาคารสาธารณะที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก จะถูกบังคับด้วยกฎหมายควบคุมอาคารตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้มีการคำนึงถึงการต้านทานแรงแผ่นดินไหว เช่น กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 ซึ่งได้ปรับปรุงจากปี พ.ศ.2550 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564​

แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายของอาคารทั้งระดับเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่อาคารก่อสร้างใหม่ที่ทำตามกฎหมายฉบับใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อ "ทบทวนมาตรฐาน วิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก และหาข้อสรุปสำหรับการออกแบบอาคารใหม่" ต่อจากนี้ ว่าการอ้างอิงกฎหมายปัจจุบันยังเพียงพออยู่หรือไม่ หรือควรต้อง "ปรับปรุงมาตรฐานอย่างไร?" อีกทั้งสามารถพิสูจน์ "ประสิทธิภาพของการออกแบบ และรายการคำนวณโครงสร้าง" ก่อนการก่อสร้างจริงได้ด้วยการจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทดสอบในอุโมงค์ลม หรือเครื่องมือการทดสอบอื่นใดบ้าง นอกจากนี้ ควรมีบทพิจารณาทางกฎหมายถึงระดับของการออกแบบ และก่อสร้างเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น ตามการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ตั้งโครงการนั้นๆ หรือไม่ และอย่างไร?​

รวมถึงในกรณีบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือตึกแถว ที่ไม่อยู่ในขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมาย จะสามารถปรับปรุงอาคารให้มีความปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร? อีกทั้งรายละเอียดการประกันโครงสร้างบ้านที่ระบุในพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร อันคุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายแก่โครงสร้างหลัก ได้แก่ เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังรับน้ำหนัก ที่ครอบคลุมเป็นระยะเวลาเพียง 5 ปี ตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์นั้น ควรต้องทบทวนเช่นเดียวกันใช่หรือไม่​

แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะส่วนงานวิศวกรรมโครงสร้างเท่านั้นที่สำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร ในส่วนของมาตรฐานทางด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานระบบ ตลอดจนส่วนประกอบอาคารต่างๆ ควรต้องถูกนำกลับมาทบทวนด้วยเช่นกัน​

​RISC ในบทบาทของผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและมีสุขภาวะที่ดี ขอยกตัวอย่างข้อพิจารณามาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้​
1. กระจกอาคาร - ไม่ควรร่วงหล่นหากมีการแตกร้าวหรือเกิดการขยับตัวของโครงสร้างจากแรงแผ่นดินไหว อันก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน และกีดขวางเส้นทางการอพยพ และควรเลือกใช้กระจกลามิเนตสำหรับกระจกเปลือกอาคาร ประตู หน้าต่าง และราวกันตก อีกทั้งไม่ควรใช้วัสดุประตูกระจกบานเปลือย สำหรับประตูบานขนาดใหญ่เกินขนาดมาตรฐาน โดยเฉพาะในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานเป็นประจำ หรือรับแรงลมสูง​
2. สระว่ายน้ำ - ควรมีราวกันตกสูงจากขอบสระอย่างน้อย 1.20 เมตร หรือมีระยะร่นห่างจากขอบอาคารอย่างน้อย 2.00 เมตร กรณีเป็นสระว่ายน้ำแบบไร้ขอบ (Infinity Pool) เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในสถานการณ์ปกติ ป้องกันวัตถุหรือคนพลัดตกจากอาคาร และป้องกันอันตรายต่อผู้คน และอาคารข้างเคียงจากน้ำล้นออกนอกสระเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน​
3. ผนังภายในทั่วไป - หากมีการกรุทับด้วยวัสดุตกแต่ง หรือวอลเปเปอร์ ที่มักจะปิดกั้นความชื้น ปกปิดเชื้อรา และยังปกปิดรอยแตกร้าวด้วยเช่นกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจความเสียหายของโครงสร้าง และการรั่วซึมที่ผนัง​
4. เฟอร์นิเจอร์และส่วนตกแต่งที่มีน้ำหนักมาก - สามารถล้มหรือร่วงหล่นได้ เช่น ตู้หนังสือ ตู้เก็บของ ควรมีการยึดติดแน่นเข้ากับพื้นหรือผนัง และมีการล็อคหน้าบานหรือราวกันตก ป้องกันสิ่งของที่อยู่ด้านในร่วงหล่น รวมถึงอุปกรณ์และส่วนตกแต่งที่มีโอกาสแกว่ง หรือไหวได้ เช่น โคมไฟ เครื่องปรับอากาศ ป้ายสัญลักษณ์ จะต้องมีจุดยึดที่แข็งแรง แน่นหนา​
5. ประตูอาคารที่เป็นระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ - ที่นิยมใช้ในอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า ควรมีการออกแบบให้สามารถเปิดค้างไว้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และทำการทดสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ​
6. งานระบบท่อน้ำไม่ควรฝังในโครงสร้าง - ที่ไม่สามารถตรวจสอบการรั่วซึม หรือสามารถซ่อมบำรุงได้ทันท่วงที อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาจมีการรั่วซึมหรือเกิดการชำรุดเสียหายของระบบท่อน้ำในอาคาร โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัย จึงควรออกแบบให้มีจุดระบายน้ำกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ เช่น ที่พื้นบริเวณทางเดินส่วนกลาง เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าห้องพักและห้องเครื่องลิฟต์​
7. เส้นทางอพยพ ควรถูกกำหนดอย่างชัดเจน และจะต้องมั่นใจว่ามีไฟสำรองฉุกเฉินจ่ายมายังไฟแสงสว่าง และป้ายแสดงทางหนีไฟ เพื่อนำทางไปยังจุดรวมพลนอกอาคารได้ หากเหตุแผ่นดินไหวในช่วงกลางคืน หรือกระแสไฟฟ้าของอาคารถูกตัด ที่สำคัญคือต้องมีการประชาสัมพันธ์ และซักซ้อมการอพยพอย่างสม่ำเสมอ​
8. ระบบเตือนภัย และพื้นที่หลบภัย - ที่เหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่พักรอการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่มีกฎหมายบังคับใช้สำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกอาคาร โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ​

จากข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างมาตรฐานบางส่วนที่อาจเป็นประโยชน์กับอาคารอื่นๆ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม โดย RISC จะมุ่งมั่นศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และพัฒนาอาคารบ้านเรือนให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยมีประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง​

บทเรียนจากแบบทดสอบสถานการณ์จริงในครั้งนี้ ถือเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับอาคารที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรืออาคารที่ยังไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการอยู่รอดจากการเกิดแผ่นดินไหว หากการตื่นตัวเป็นเพียงกระแสที่ผ่านมา และยังถูกปล่อยให้ผ่านเลยไป แผ่นดินไหวครั้งนี้คงจะไม่ใช่บทเรียนครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน​

เพราะความปลอดภัย ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย และมาตรฐาน ไม่ได้มีไว้ต่อรอง ต้องพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด อย่างต่อเนื่อง​

เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่​
กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0013.PDF​
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/275/T_0016.PDF​
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/293/T_0057.PDF​
กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0019.PDF​
พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543: ​https://download.asa.or.th/03media/04law/lsa/lsa43-upd02.pdf​
ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร พ.ศ. 2545: ​https://www.dol.go.th/estate/DocLib18/scan0003.pdf​