RISC

Knowledge Resilience

Resilience

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

โดย RISC | 2 วันที่แล้ว

หากพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระทบกับเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราอาจจะนึกย้อนไปหลายปี จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือพูดง่ายๆ คือเป็นภัยพิบัติที่คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจมองข้ามไปแล้วด้วยซ้ำ​ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2568 ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี พบว่ากรุงเทพฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้รวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง โดยจำแนกตามช่วงเวลาได้ตามนี้...​- พ.ศ. 2538–2548: จำนวน 7 เหตุการณ์​- พ.ศ. 2549–2558: จำนวน 17 เหตุการณ์​- พ.ศ. 2559–2568: จำนวน 13 เหตุการณ์​โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกิดเฉพาะในอาคารสูง และมักมีลักษณะเบา ถึงปานกลาง แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่แรงสั่นสะเทือนในกรุงเทพฯ มีความชัดเจนอย่างมาก จนตึกสูงทั่วเมืองโยกไหว และมีรายงานความเสียหายต่ออาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ชี้ให้เห็นว่าความถี่และระดับความรุนแรงของผลกระทบเริ่มเพิ่มขึ้น จนไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป​ในเมื่อแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แล้ว.....ทำไมรอบนี้ถึงเสียหายเยอะกว่าที่ผ่านมา?​แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง และไม่ได้เป็นเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวหลักของประเทศไทย แต่กลับรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไกลอยู่บ่อยครั้ง โดยสามารถหาเหตุผลหลักทางธรณีวิทยาได้ดังนี้​1. ดินอ่อน: พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ (และหลายจังหวัดในภาคกลาง) เป็นดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะสมตัวมานานนับพันปี มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน (Soft Clay) ที่มีความลึกตั้งแต่ 10 - 30 เมตร ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ คือ สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลมาถึงชั้นดินอ่อนของกรุงเทพฯ พลังงานของคลื่นอาจเกิดการ “ขยาย” แรงสั่นสะเทือนในบางความถี่ จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูง ยังสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจน​2. แผ่นดินไหวความถี่ต่ำ: แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดไกลจากกรุงเทพฯ มักปล่อยคลื่นแผ่นดินไหวในช่วงความถี่ต่ำ (Low-Frequency Seismic Waves) ซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลได้ถึง 1,000 กิโลเมตร โดยพลังงานไม่หายไป และส่งผลกระทบกับอาคารสูง 10 ชั้นขึ้นไปโดยตรง ขณะที่บริเวณพื้นดินอาจแทบไม่รู้สึกอะไร (ตามกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา) ยิ่งโครงสร้างของอาคารถูกออกแบบมาให้สูง และยืดหยุ่นมากเท่าไร ความถี่ที่สั่นเองอย่างเป็นธรรมชาติของโครงสร้างอาคารก็จะสอดคล้องกับคลื่นของแผ่นดินไหวมากขึ้นเท่านั้น และเกิดการสั่นสะเทือน และ “โยก” อย่างมีนัยสำคัญ​แม้อาคารสูงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความเสี่ยงจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนซึ่งสามารถขยายแรงสั่นไหวได้ แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสามารถจัดการได้หากมีการออกแบบโครงสร้างตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง โดยสามารถศึกษาแนวทางการออกแบบเพื่อความปลอดภัยในกรณีแผ่นดินไหวเพิ่มเติมได้จากบทความนี้ (https://mqdc.link/4lfVStr) “มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว” โดย คุณสริธร อมรจารุชิต หนึ่งในผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบอาคารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)​เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส แล Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions และ คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://earthquake.tmd.go.th/document.html​https://earthquake.tmd.go.th/documents/file/seismo-doc-1606435108.pdf​https://op.mahidol.ac.th/rm/wp-content/uploads/2018/06/earthquake_140516.pdf​

101 viewer

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที เห็นได้จากเหตุ “แผ่นดินไหว” เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา​จากเหตุการณ์ในวันนั้นเห็นได้ชัดว่า “การรับมือ” ล่วงหน้ามีผลอย่างมากต่อ “การอยู่รอด” ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ในด้าน “Living & Infrastructure” ในข้อย่อย “Incident & Disaster” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ด้านหลักของ Resilience "Shock & Stress" Framework​ ​ทีม RISC เราได้พัฒนา "Resilience Framework Toolkit" เป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักรู้ให้เห็นถึงภัยพิบัติและปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ​• Nature & Environment​• Living & Infrastructure ​• Society & Economy ​เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "Resilience Framework Toolkit" จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มองเห็น เข้าใจถึงปัญหา และคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และวางแผนการพัฒนาเมือง ให้พร้อมตั้งรับและปรับตัวอย่างถูกต้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ ทั้งในระดับอาคาร ระดับชุมชน และระดับเมือง​เรามาดูการนำ "Resilience Framework Toolkit" ไปใช้ในแต่ละมุมมองกัน สั่งซื้อ Resilience Framework Toolkit ได้แล้ววันนี้​✅RISC LINE Official : risc_center​ (ราคาเล่มละ 600 บาท รวมค่าส่ง)✅DTGO CAMPUS ตึก Empty Cup, RISC Office (ชั้น 2) และ Forget-Me-Not Shop (ชั้น 3) ​(https://maps.app.goo.gl/kGLM3YcccNysnMcW9)​(พิเศษ!! ซื้อและรับด้วยตัวเอง ลดเหลือราคาเล่มละ 500 บาท)

268 viewer

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

“ขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย”...ประโยคนี้มักเป็นข้อความฝากทิ้งท้ายหลังเหตุการณ์เลวร้ายเสมอ​เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในเมืองไทย จึงทำให้หลายภาคส่วนมักมองข้ามเรื่องสำคัญไป นั่นก็คือเรื่อง “โครงสร้างอาคาร”​โครงสร้างอาคารมีความสำคัญแค่ไหน? ยังไง?​ทำไมจึงต้องมีการรับประกันความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ในเมื่ออาคารโดยทั่วไปก็อยู่ได้เป็นร้อยปีอยู่แล้ว?​เชื่อว่าคำถามนี้ ได้รับคำตอบอย่างประจักษ์แล้ว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และนับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคนไทย และยังถือเป็นการพิสูจน์ผลงานด้านวิศวกรรมของวิศวกรโครงสร้าง และผู้รับเหมาก่อสร้างได้เป็นอย่างดี​การออกแบบ และการคำนวณโครงสร้างอาคารที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสูง รวมถึงศาสนสถาน และอาคารสาธารณะที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก จะถูกบังคับด้วยกฎหมายควบคุมอาคารตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้มีการคำนึงถึงการต้านทานแรงแผ่นดินไหว เช่น กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 ซึ่งได้ปรับปรุงจากปี พ.ศ.2550 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564​แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายของอาคารทั้งระดับเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่อาคารก่อสร้างใหม่ที่ทำตามกฎหมายฉบับใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อ "ทบทวนมาตรฐาน วิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก และหาข้อสรุปสำหรับการออกแบบอาคารใหม่" ต่อจากนี้ ว่าการอ้างอิงกฎหมายปัจจุบันยังเพียงพออยู่หรือไม่ หรือควรต้อง "ปรับปรุงมาตรฐานอย่างไร?" อีกทั้งสามารถพิสูจน์ "ประสิทธิภาพของการออกแบบ และรายการคำนวณโครงสร้าง" ก่อนการก่อสร้างจริงได้ด้วยการจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทดสอบในอุโมงค์ลม หรือเครื่องมือการทดสอบอื่นใดบ้าง นอกจากนี้ ควรมีบทพิจารณาทางกฎหมายถึงระดับของการออกแบบ และก่อสร้างเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น ตามการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ตั้งโครงการนั้นๆ หรือไม่ และอย่างไร?​รวมถึงในกรณีบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือตึกแถว ที่ไม่อยู่ในขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมาย จะสามารถปรับปรุงอาคารให้มีความปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร? อีกทั้งรายละเอียดการประกันโครงสร้างบ้านที่ระบุในพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร อันคุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายแก่โครงสร้างหลัก ได้แก่ เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังรับน้ำหนัก ที่ครอบคลุมเป็นระยะเวลาเพียง 5 ปี ตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์นั้น ควรต้องทบทวนเช่นเดียวกันใช่หรือไม่​แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะส่วนงานวิศวกรรมโครงสร้างเท่านั้นที่สำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร ในส่วนของมาตรฐานทางด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานระบบ ตลอดจนส่วนประกอบอาคารต่างๆ ควรต้องถูกนำกลับมาทบทวนด้วยเช่นกัน​​RISC ในบทบาทของผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและมีสุขภาวะที่ดี ขอยกตัวอย่างข้อพิจารณามาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้​1. กระจกอาคาร - ไม่ควรร่วงหล่นหากมีการแตกร้าวหรือเกิดการขยับตัวของโครงสร้างจากแรงแผ่นดินไหว อันก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน และกีดขวางเส้นทางการอพยพ และควรเลือกใช้กระจกลามิเนตสำหรับกระจกเปลือกอาคาร ประตู หน้าต่าง และราวกันตก อีกทั้งไม่ควรใช้วัสดุประตูกระจกบานเปลือย สำหรับประตูบานขนาดใหญ่เกินขนาดมาตรฐาน โดยเฉพาะในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานเป็นประจำ หรือรับแรงลมสูง​2. สระว่ายน้ำ - ควรมีราวกันตกสูงจากขอบสระอย่างน้อย 1.20 เมตร หรือมีระยะร่นห่างจากขอบอาคารอย่างน้อย 2.00 เมตร กรณีเป็นสระว่ายน้ำแบบไร้ขอบ (Infinity Pool) เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในสถานการณ์ปกติ ป้องกันวัตถุหรือคนพลัดตกจากอาคาร และป้องกันอันตรายต่อผู้คน และอาคารข้างเคียงจากน้ำล้นออกนอกสระเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน​3. ผนังภายในทั่วไป - หากมีการกรุทับด้วยวัสดุตกแต่ง หรือวอลเปเปอร์ ที่มักจะปิดกั้นความชื้น ปกปิดเชื้อรา และยังปกปิดรอยแตกร้าวด้วยเช่นกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจความเสียหายของโครงสร้าง และการรั่วซึมที่ผนัง​4. เฟอร์นิเจอร์และส่วนตกแต่งที่มีน้ำหนักมาก - สามารถล้มหรือร่วงหล่นได้ เช่น ตู้หนังสือ ตู้เก็บของ ควรมีการยึดติดแน่นเข้ากับพื้นหรือผนัง และมีการล็อคหน้าบานหรือราวกันตก ป้องกันสิ่งของที่อยู่ด้านในร่วงหล่น รวมถึงอุปกรณ์และส่วนตกแต่งที่มีโอกาสแกว่ง หรือไหวได้ เช่น โคมไฟ เครื่องปรับอากาศ ป้ายสัญลักษณ์ จะต้องมีจุดยึดที่แข็งแรง แน่นหนา​5. ประตูอาคารที่เป็นระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ - ที่นิยมใช้ในอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า ควรมีการออกแบบให้สามารถเปิดค้างไว้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และทำการทดสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ​6. งานระบบท่อน้ำไม่ควรฝังในโครงสร้าง - ที่ไม่สามารถตรวจสอบการรั่วซึม หรือสามารถซ่อมบำรุงได้ทันท่วงที อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาจมีการรั่วซึมหรือเกิดการชำรุดเสียหายของระบบท่อน้ำในอาคาร โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัย จึงควรออกแบบให้มีจุดระบายน้ำกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ เช่น ที่พื้นบริเวณทางเดินส่วนกลาง เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าห้องพักและห้องเครื่องลิฟต์​7. เส้นทางอพยพ ควรถูกกำหนดอย่างชัดเจน และจะต้องมั่นใจว่ามีไฟสำรองฉุกเฉินจ่ายมายังไฟแสงสว่าง และป้ายแสดงทางหนีไฟ เพื่อนำทางไปยังจุดรวมพลนอกอาคารได้ หากเหตุแผ่นดินไหวในช่วงกลางคืน หรือกระแสไฟฟ้าของอาคารถูกตัด ที่สำคัญคือต้องมีการประชาสัมพันธ์ และซักซ้อมการอพยพอย่างสม่ำเสมอ​8. ระบบเตือนภัย และพื้นที่หลบภัย - ที่เหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่พักรอการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่มีกฎหมายบังคับใช้สำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกอาคาร โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ​จากข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างมาตรฐานบางส่วนที่อาจเป็นประโยชน์กับอาคารอื่นๆ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม โดย RISC จะมุ่งมั่นศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และพัฒนาอาคารบ้านเรือนให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยมีประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง​บทเรียนจากแบบทดสอบสถานการณ์จริงในครั้งนี้ ถือเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับอาคารที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรืออาคารที่ยังไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการอยู่รอดจากการเกิดแผ่นดินไหว หากการตื่นตัวเป็นเพียงกระแสที่ผ่านมา และยังถูกปล่อยให้ผ่านเลยไป แผ่นดินไหวครั้งนี้คงจะไม่ใช่บทเรียนครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน​เพราะความปลอดภัย ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย และมาตรฐาน ไม่ได้มีไว้ต่อรอง ต้องพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด อย่างต่อเนื่อง​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่​กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0013.PDF​ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/275/T_0016.PDF​ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/293/T_0057.PDF​กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0019.PDF​พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543: ​https://download.asa.or.th/03media/04law/lsa/lsa43-upd02.pdf​ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร พ.ศ. 2545: ​https://www.dol.go.th/estate/DocLib18/scan0003.pdf​

669 viewer

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?

โดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว

หลายคนคงได้เริ่มสัมผัสถึงไอเย็นที่โชยมาในช่วงเช้ามืดกันบ้างแล้ว และเมื่อความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้ามาแทนที่ในช่วงสาย ไอเย็นก็จะจางหายไป ทำให้เราเข้าใจได้เองว่ากำลังเข้าสู่ฤดูหนาว​แต่ถ้าถามว่าปีนี้ประเทศไทยเมื่อหมดฝนแล้วจะเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อไหร่ แล้วจะหนาวหรือไม่ หน่วยงานที่จะให้คำตอบได้ดี และแม่นยำที่สุดของประเทศไทย มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ​จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ปกติแล้วประเทศไทยจะเริ่มต้นฤดูหนาวประมาณกลางเดือนตุลาคม เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศ อากาศจะแปรปรวน เปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว โดยก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว กรมอุตุนิยมวิทยาจะคาดการณ์ลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย และทำการเผยแพร่ข้อมูลออกมาให้ประชาชนรับทราบและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการคาดการณ์นี้จะเป็นการคาดการณ์ระยะนานโดยใช้วิธีทางสถิติ และวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศ ​การคาดการณ์ หรือการพยากรณ์อากาศระยะนาน (Longe Range Forecast) เป็นการพยากรณ์อากาศในช่วงเวลามากกว่า 10 วันขึ้นไป โดยใช้ทฤษฎีทางอุตุนิยมวิทยาร่วมกับข้อมูลที่ได้จากระบบตรวจอากาศทั้งจากสถานีตรวจอากาศพื้นผิว และชั้นบน โดยจะทำการตรวจวัดองค์ประกอบต่างๆ เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ ความเร็วลม และทิศทางลม รวมถึงข้อมูลที่ได้จากเรดาร์ตรวจวัดอากาศ และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ก็จะยิ่งทำให้การคาดการณ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น​ส่วนการวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศ เพื่อพยากรณ์อากาศรายฤดู จะเป็นการคาดการณ์ทางสถิติ ด้วยเครื่องมือ Climate Predictability Tool (CPT) ที่พัฒนาขึ้นโดย สถาบันวิจัย IRI (International Research Institute for Climate and Society, The Earth Institute of Columbia University) ซึ่งการคาดการณ์นี้มาจากแบบจำลอง GCM (Global Climate Model) เป็นการคาดการณ์โดยอาศัยผลการพยากรณ์อุณหภูมิน้ำทะเลเป็นหลัก ร่วมกับข้อมูลการตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ​ถ้าถามว่า ฤดูหนาวปีนี้บ้านเราจะหนาวมั้ย?​กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ไว้ว่า ฤดูหนาวจะเริ่มช้ากว่าปกติ โดยประเทศไทยตอนบน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 - 21 องศาเซลเซียส ขณะที่กรุงเทพมหานครจะมีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 16 – 18 องศาเซลเซียส และปริมณฑล 14 – 16 องศาเซลเซียส อากาศหนาวเย็นที่สุดจะเริ่มประมาณต้นเดือนธันวาคม 2567 ถึงมกราคม 2568 และจังหวัดที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาวจัด (ต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส) ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน เลย สกลนคร นครพนม ส่วนในภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางพื้นที่ แต่ยังคงมีฝนตกชุกต่อไป ​ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน และกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัวแบบนี้ อาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย อย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายของคนในครอบครัวให้แข็งแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมเครื่องนุ่งห่มให้พร้อมรับมือกับอากาศหนาวที่จะมาถึง ​เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://tmd.go.th/info/%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2​http://climate.tmd.go.th/content/category/4​http://climate.tmd.go.th/content/category/6​

794 viewer

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

คงไม่มีใครไม่รู้จัก ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) เพราะในช่วงหลายปีมานี้เราได้เจอปรากฏการณ์นี้กันไปเต็มๆ​ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาเป็นส่วนหนึ่งของความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ซึ่งลักษณะของเอลนีโญ คือ อุณหภูมิมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกจะอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่งผลต่อภูมิภาคเขตร้อนอย่างไทยที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งกว่าเดิม ในขณะที่ลานีญานั้นจะกลับกัน คือ ทำให้ภูมิภาคเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยมีปริมาณฝนตกมากขึ้น​สำหรับในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังจากปรากฎการณ์เอลนีโญสลับมาเป็นปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ประเทศไทยเรามีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ เมื่อประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้พื้นที่ป่าตามธรรมชาติลดน้อยลง เมื่อฝนตกจึงทำให้มีโอกาสเกิดน้ำหลาก ซึ่งไหลอย่างรวดเร็วเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน การเตรียมพร้อมรับมือจึงต้องพร้อมอยู่เสมอ เช่น ยกสิ่งของต่างๆ ขึ้นสู่ที่สูง ตัดกระแสไฟฟ้าในบริเวณชั้น 1 และคอยติดตามฟังสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมอพยพหากจำเป็น​โดยปกติการที่มีทั้งสองปรากฏการณ์เกิดขึ้นในปีเดียวกันนั้น มักเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย เสมือนอากาศผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งผลพวงก็มาจากภาวะโลกรวนนั่นเอง และนั่นจึงเป็นสัญญาณที่บอกให้เราทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือโดยอาศัยหลักการคิดแบบ Resilience และยิ่งเรามีเครื่องมือดีๆ ที่ช่วยให้เราพร้อมรับถือสถานการณ์ต่างๆ ได้ ก็ยิ่งทำให้เราปรับตัวได้ง่ายขึ้น ​“Resilience Framework Toolkit” เป็นเครื่องมือช่วยให้มองเห็นและเข้าใจถึงปัญหา คาดการณ์ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การออกแบบอาคาร การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และวางแผนการพัฒนาเมือง ให้พร้อมตั้งรับและปรับตัวอย่างถูกต้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ ที่จะส่งผลกระทบทั้งในระดับอาคาร ระดับชุมชน และระดับเมือง ​สนใจสั่งซื้อ Resilience Framework Toolkit ชำระเงินราคาเล่มละ 600 บาท (รวมค่าส่ง)ได้ที่ เลขที่บัญชี 175-054975-8 ธนาคารกรุงเทพ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ​พร้อมแนบหลักฐานการโอนเงิน และชื่อที่อยู่ในการจัดส่งมาทาง https://forms.gle/7ybMXoNZ29Xo826b7 ​หากต้องการใบกำกับภาษี กรุณากรอกรายละเอียดใบเสร็จรับเงิน (รูปแบบ E-Receipt) ได้ที่ https://forms.gle/WPq8ybbKfxXPmkXi9 ​พิเศษ!! ลดเหลือราคาเล่มละ 500 บาท เมื่อซื้อและรับด้วยตัวเองที่ DTGO CAMPUS ตึก Empty Cup, RISC Office (ชั้น 2) และ Forget-Me-Not Shop (ชั้น 3) (https://maps.app.goo.gl/kGLM3YcccNysnMcW9)​------------------------------------------------------------------​เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.tmd.go.th/info/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8D%E0%B8%B2​https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2786619​

1301 viewer

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

ก่อนหน้านี้โลกของเราได้อยู่ในสภาวะเป็นกลาง (ENSO-neutral) ของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) แต่ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่สภาวะลานีญา (La Niña) อย่างเต็มตัวแล้ว ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงตามมา​น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในทางตรง น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน เส้นทางคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภค รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ ส่วนในทางอ้อม ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความปลอดภัยต่อชีวิต และสุขภาพจิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ​แต่ละประเทศทั่วโลกก็มีวิธีในการรับมือน้ำท่วมที่แตกต่างกัน งั้นวันนี้เราลองมาดูกันว่า ในต่างประเทศเค้ามีวิธีจัดการและรับมือกันอย่างไร?​ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเมืองทั่วโลกล้วนมีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ Geo-informatics มาใช้สนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ในการลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม อย่าง "ประเทศสหรัฐอเมริกา" ภายใต้ Federal Emergency Management Agency (FEMA) มีการจัดทำ FEMA Flood Map Service Center แหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงแผนที่น้ำท่วม แผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วม และแผนที่แสดงอัตราการประกันภัยน้ำท่วม สนับสนุน National Flood Insurance Program (NFIP) เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ดำเนินการบรรเทาผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ​ขยับมาที่ประเทศใกล้บ้านเราหน่อย "ประเทศสิงคโปร์" ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำท่วม อย่างเช่น ระบบตรวจวัดระดับน้ำผ่านเซนเซอร์และกล้อง CCTV แสดงผลบนแผนที่แบบ Real-time ที่จะมีการแจ้งเตือนเมื่อน้ำขึ้นสูงถึงระดับความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม และระบบตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและการคาดการณ์ที่ใช้ในการแจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าจากการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนด้วยเรดาร์​คราวนี้มาดูที่บ้านเรากันบ้าง "กรุงเทพมหานคร" มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การใช้ข้อมูลจากเรดาร์ตรวจอากาศ ที่จะแสดงภาพการเคลื่อนที่และปริมาณความรุนแรงของกลุ่มฝน โดยการสำรวจระยะไกลผ่านการส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบกับเม็ดฝน ทำให้ช่วยวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถติดตามสถานการณ์การเคลื่อนที่ของกลุ่มฝนได้ จากเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร https://weather.bangkok.go.th/radar/​กรุงเทพมหานคร ยังได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (Bangkok Risk Map) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยของกรุงเทพมหานคร ที่เราสามารถเข้าไปดูพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่น้ำท่วมในอดีตได้จากเว็บไซต์นี้ https://cpudapp.bangkok.go.th/riskbkk/index.html​นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก็ได้ทำการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ภัยพิบัติ ระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านน้ำท่วม รวมถึงไฟป่าและภัยแล้ง โดยจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมสถานการณ์ล่าสุดของประเทศไทย เพื่อช่วยคาดการณ์ความรุนแรงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งเราทุกคนก็สามารถติดตามสถานการณ์ได้เช่นกัน ผ่านทางเว็บไซต์ https://disaster.gistda.or.th/#4.87/13.16/101.49​ช่วงนี้ฝนก็เริ่มตกหนักและถี่ขึ้นทุกวัน หากสนใจหรืออยากวางแผนรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเองลองเข้าไปดูข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สาธารณะเหล่านี้ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ในการวางแผนและช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้ไม่มากก็น้อย​เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://msc.fema.gov/portal/home​https://www.pub.gov.sg/Public/KeyInitiatives/Flood-Management​https://pr-bangkok.com/?p=258971​https://weather.bangkok.go.th/radar/​https://disaster.gistda.or.th/#4.87/13.16/101.49​https://gistda.or.th/news_view.php?n_id=2883&lang=TH​

1566 viewer

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

นับเป็นระยะเวลานานที่ปัญหาโลกร้อนได้เป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม และสังคมมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรง อย่างคลื่นความร้อน พายุ และไฟป่า และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและใช้ชีวิตของเรา​ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญแล้ว อีกก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ “ก๊าซโอโซน”​โอโซน (O₃) เกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน (O₂) ที่มีอยู่มากมายในอากาศหนึ่งโมเลกุลและอะตอมออกซิเจนอิสระ (O₂₋) ที่แตกตัว เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV) ของโมเลกุลออกซิเจนนั่นเอง แต่เมื่อโอโซนได้รับพลังงานจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ จะเกิดการสลายตัวเช่นเดียวกัน กลายเป็นอะตอมออกซิเจนอิสระและโมเลกุลของก๊าซออกซิเจน ​รู้หรือไม่ว่า โอโซน (O₃) เป็นก๊าซที่มีบทบาทสองด้านต่อปัญหาภาวะโลกร้อน?​ในชั้นบรรยากาศชั้นกลางหรือสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) โอโซนจะทำหน้าที่ป้องกันรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ ช่วยลดการดูดกลืนความร้อนของพื้นโลก แต่สำหรับในชั้นบรรยากาศชั้นล่างหรือโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) โอโซนกลับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซะเอง​ถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมเป็นเช่นนั้น งั้นเรามาดูคำตอบนี้กัน...​โอโซนภาคพื้นดิน (Ground Level Ozone) ก็คือโอโซนที่ระดับความสูง 0 ถึงประมาณ 2 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งในธรรมชาติโอโซนที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน แหล่งกำเนิดโอโซนส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น จากไอเสียของรถยนต์หรือไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะมีไนโตรเจนออกไซด์(NOₓ) เป็นองค์ประกอบหลัก หรือเกิดจากปฏิกิริยาเคมีแสง (Photochemical Reaction) รังสีอัลตราไวโอเลตของสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compound: VOC) จากสีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ โดยโอโซนบนภาคพื้นดินถือเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก และยังเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ดูดกลืนและกักเก็บรังสีความร้อนจากพื้นผิวโลก ไม่ให้คายออกสู่บรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และยังมีประสิทธิภาพในการดูดกลืนความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 3 เท่า​ปัจจุบัน มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เป็น "ต้นเหตุของการเกิดโอโซน" ในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ด้วยเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น ระบบกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์, ระบบดักจับอนุภาคละอองขนาดเล็ก เพื่อลดการปล่อยสารที่ก่อให้เกิดโอโซนจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฮบริด ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน เพื่อคงสมดุลของระบบนิเวศ และรักษาสภาพอากาศของโลกให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตต่อไป​เนื้อหาโดย คุณ ชนินทร์ กุลสุรกิจ สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญระดับ WELL AP, DGNB international, TREES-A และ DGNB consultant, RISC​

3315 viewer

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่กุมภาพันธ์มาจนถึงเดือนนี้ คงไม่มีใครที่ไม่บ่นเรื่องอากาศร้อน แต่ที่หนักกว่าคือสถานการณ์ในตอนนี้เป็นเพียงแค่สัญญาณเริ่มต้นเท่านั้นเอง​อย่างที่เรารู้กันว่าในปีนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญรวมกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน จะทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนสุดขั้วได้มากขึ้น จนอาจส่งผลให้คนเกิดภาวะโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น​โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) เกิดจากการที่ร่างกายคนเราไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ คือ...​• โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลัง เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหมเกินไปในสภาพอากาศร้อนจัดและความชื้นสูง​• โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก เกิดจากการอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน มักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังบางประการ​โดยอาการของโรคลมแดด เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น จะทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาการอื่นที่พบได้ ก็มีตั้งแต่หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรงและคลื่นไส้​หากพบผู้มีอาการของโรคลมแดด ให้รีบลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย โดยให้รีบพาเข้าที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก แล้วใช้น้ำแข็งประคบตามหน้าผาก คอ รักแร้ ขาหนีบ ก่อนนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว​สำหรับแนวทางป้องกันโรคลมแดด หากจำเป็นต้องอยู่ในที่อุณหภูมิสูง ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าเบาบาง ระบายอากาศได้ดี ใช้ครีมกันแดด รวมทั้งงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.bangkokbiznews.com/environment/1116005​https://www.cdc.gov/niosh/topics/heatstress/heatrelillness.html#stroke

1349 viewer

GIS ช่วยเราคาดการณ์และป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร?

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

"โลกของเราเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño)" องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2023 จนกระทั่งวันนี้เอลนีโญก็ยังคงอยู่​ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและมีอุณหภูมิอากาศสูงผิดปกติ แต่จากรายงานการคาดการณ์การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ประจำเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า เอลนีโญที่มีความรุนแรงนี้จะอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคม 2024 และเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง (ENSO-neutral) จากนั้นจะเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) ในช่วงเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 ประเทศไทยเราไม่ต้องกังวลกับปัญหาภัยแล้ง เหมือนปี 2023 ที่ผ่านมา แต่ในทางตรงข้าม ในหลายๆ พื้นที่ของเราอาจต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมสูงมากขึ้น​เมื่อเรารู้แล้วว่าภัยน้ำท่วมอาจจะเกิดขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าบริเวณพื้นที่ไหนบ้างที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม​หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากหลากหลายหน่วยงานทั่วโลก ด้วยการวิเคราะห์และการคาดการณ์เชิงพื้นที่ นั่นคือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือที่เราเรียกว่า GIS นั่นเอง​แล้ว GIS คืออะไร?​GIS คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล จัดการ วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ สามารถช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์และรู้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นๆ ได้ ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​เราสามารถรู้ได้ว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จากการนำข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญมาวิเคราะห์ เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน, แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (DEM), โครงข่ายลำน้ำ, สิ่งกีดขวางลำน้ำ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ร่วมกับทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบแผนที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปสามารถนำผลลัพธ์นี้ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจ การเฝ้าระวัง หรือการทำงานเชิงรุก เพื่อเตรียมการวางแผนรับมือก่อนการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้ ​อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูฝนกันแล้ว ตัวแปรสำคัญของปีนี้ คือ "ปรากฎการณ์ลานีญา" ที่อาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด หากเราเตรียมความพร้อมหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหรือไม่ เพื่อช่วยในการวางแผนและตั้งรับได้ทัน และช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย​เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/lanina/enso_evolution-status-fcsts-web.pdf​https://gistda.or.th/news_view.php?n_id=2883

2522 viewer

จับตาความเสี่ยงโลก​ Global Risks Report 2024​

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

ในทุกๆ ปี สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum จะมีการประกาศรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี (Global Risks Report) RISC ขอสรุปประเด็นเสี่ยงที่น่าสนใจที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ มาดูกัน...!!​รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) ได้นำเสนอความเสี่ยงโลกระยะสั้น 2 ปี และความเสี่ยงระยะยาว 10 ปี โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงใน 5 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคมและเทคโนโลยี​ความเสี่ยงระยะสั้น 2 ปี ลำดับแรกคือ ความเสี่ยงจากการสร้างข้อมูลเท็จโดยมีเจตนาทำให้เข้าใจผิด ซึ่งเป็นความเสี่ยงในมิติเทคโนโลยี ถัดมาในลำดับที่ 2 เป็นเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และลำดับที่ 3 เป็นการแบ่งขั้วทางสังคม เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ความเสี่ยงระยะสั้น 2 ปีส่วนใหญ่จะเป็นมิติด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นลำดับที่ 3 การแบ่งขั้วทางสังคม ลำดับที่ 6 การขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ และลำดับที่ 8 การย้ายถิ่นฐานแบบไม่สมัครใจ ส่วนความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมติดเพียง 2 ลำดับ คือ ลำดับที่ 2 เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และลำดับที่ 10 ปัญหามลภาวะ​คราวนี้เราจะมาดูในส่วนของความเสี่ยงระยะยาว 10 ปีกันบ้าง​ความเสี่ยงระยะยาว 10 ปีจะมีมิติสิ่งแวดล้อมติดถึง 6 อันดับเลยทีเดียว ตั้งแต่ลำดับที่ 1 เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ลำดับที่ 2 การเปลี่ยนแปลงระบบของโลกในระดับวิกฤต ลำดับที่ 3 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ ลำดับที่ 4 การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และลำดับที่ 10 ปัญหามลภาวะ​เมื่อดูในระยะยาว 10 ปี ภาพรวมของโลกจะเผชิญความเสี่ยงในระดับแปรปรวน (Turbulent) สูงถึง 46% ซึ่งความเสี่ยงมิติต่าง ๆ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคมและเทคโนโลยี ล้วนเชื่อมโยงกันหมด จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ในระดับโลกไปจนถึงท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาให้โลกกลับมายั่งยืนอีกครั้ง​หากเพื่อนๆ คนไหนสนใจรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2024 แบบฉบับเต็ม สามารถเข้าติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/publications/global-risks-report-2024/เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISCอ้างอิงข้อมูลจาก​World Economic Forum​

3226 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา