RISC

Knowledge บทความทั้งหมด

บทความทั้งหมด

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

โดย RISC | 4 วันที่แล้ว

หากพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระทบกับเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราอาจจะนึกย้อนไปหลายปี จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือพูดง่ายๆ คือเป็นภัยพิบัติที่คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจมองข้ามไปแล้วด้วยซ้ำ​ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2568 ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี พบว่ากรุงเทพฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้รวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง โดยจำแนกตามช่วงเวลาได้ตามนี้...​- พ.ศ. 2538–2548: จำนวน 7 เหตุการณ์​- พ.ศ. 2549–2558: จำนวน 17 เหตุการณ์​- พ.ศ. 2559–2568: จำนวน 13 เหตุการณ์​โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกิดเฉพาะในอาคารสูง และมักมีลักษณะเบา ถึงปานกลาง แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่แรงสั่นสะเทือนในกรุงเทพฯ มีความชัดเจนอย่างมาก จนตึกสูงทั่วเมืองโยกไหว และมีรายงานความเสียหายต่ออาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ชี้ให้เห็นว่าความถี่และระดับความรุนแรงของผลกระทบเริ่มเพิ่มขึ้น จนไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป​ในเมื่อแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แล้ว.....ทำไมรอบนี้ถึงเสียหายเยอะกว่าที่ผ่านมา?​แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง และไม่ได้เป็นเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวหลักของประเทศไทย แต่กลับรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไกลอยู่บ่อยครั้ง โดยสามารถหาเหตุผลหลักทางธรณีวิทยาได้ดังนี้​1. ดินอ่อน: พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ (และหลายจังหวัดในภาคกลาง) เป็นดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะสมตัวมานานนับพันปี มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน (Soft Clay) ที่มีความลึกตั้งแต่ 10 - 30 เมตร ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ คือ สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลมาถึงชั้นดินอ่อนของกรุงเทพฯ พลังงานของคลื่นอาจเกิดการ “ขยาย” แรงสั่นสะเทือนในบางความถี่ จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูง ยังสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจน​2. แผ่นดินไหวความถี่ต่ำ: แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดไกลจากกรุงเทพฯ มักปล่อยคลื่นแผ่นดินไหวในช่วงความถี่ต่ำ (Low-Frequency Seismic Waves) ซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลได้ถึง 1,000 กิโลเมตร โดยพลังงานไม่หายไป และส่งผลกระทบกับอาคารสูง 10 ชั้นขึ้นไปโดยตรง ขณะที่บริเวณพื้นดินอาจแทบไม่รู้สึกอะไร (ตามกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา) ยิ่งโครงสร้างของอาคารถูกออกแบบมาให้สูง และยืดหยุ่นมากเท่าไร ความถี่ที่สั่นเองอย่างเป็นธรรมชาติของโครงสร้างอาคารก็จะสอดคล้องกับคลื่นของแผ่นดินไหวมากขึ้นเท่านั้น และเกิดการสั่นสะเทือน และ “โยก” อย่างมีนัยสำคัญ​แม้อาคารสูงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความเสี่ยงจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนซึ่งสามารถขยายแรงสั่นไหวได้ แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสามารถจัดการได้หากมีการออกแบบโครงสร้างตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง โดยสามารถศึกษาแนวทางการออกแบบเพื่อความปลอดภัยในกรณีแผ่นดินไหวเพิ่มเติมได้จากบทความนี้ (https://mqdc.link/4lfVStr) “มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว” โดย คุณสริธร อมรจารุชิต หนึ่งในผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบอาคารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)​เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส แล Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions และ คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://earthquake.tmd.go.th/document.html​https://earthquake.tmd.go.th/documents/file/seismo-doc-1606435108.pdf​https://op.mahidol.ac.th/rm/wp-content/uploads/2018/06/earthquake_140516.pdf​

139 viewer

MQDC STANDARD for All Well-Being การอยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกชีวิตอย่างยั่งยืน และการรองรับความปลอดภัย

โดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

บ้านที่ดี…ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องมีมาตรฐานในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ซึ่งเบื้องหลังที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ คือมาตรฐานที่มากกว่าแค่ "ได้มาตรฐาน"​RISC และ MQDC จึงได้ร่วมกันสร้างมาตรฐานขึ้นมา นั่นก็คือ “MQDC Standard”​MQDC Standard ได้พัฒนาต่อยอดจากแนวคิด “Sustainnovation” หรือนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบโครงการ ผ่าน 3 ด้านหลัก​◾️ Energy & Ecology: เน้นการอนุรักษ์พลังงานและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด For All Well-Being โดยออกแบบอาคารและเลือกใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานและน้ำ พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงการส่งเสริมระบบนิเวศที่สมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ​◾️ Health and Wellness: ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ด้วยการออกแบบระบบระบายอากาศธรรมชาติร่วมกับระบบเติมอากาศบริสุทธิ์ การเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีสารพิษและมีสารระเหยต่ำ (VOCs) เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว รวมถึงการออกแบบแสงสว่าง เสียง และความปลอดภัยภายในอาคารอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังพัฒนานวัตกรรมหอฟอกอากาศฟ้าใสเพื่อลดฝุ่น PM2.5 และยกระดับคุณภาพอากาศของชุมชนโดยรอบ​◾️ Senses & Happiness: มุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ที่ส่งเสริมความรู้สึกที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงจากการวิจัยด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาของผู้อยู่อาศัย ออกแบบพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมของทุกคนได้สะดวก ส่งเสริมการรับรู้ที่ดีด้วยการเลือกใช้วัสดุ สี และการผสานธรรมชาติเข้าไว้ในงานออกแบบ เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และเพิ่มความสุขในทุกมิติของการอยู่อาศัย​MQDC Standard เป็นแนวทางควบคุมคุณภาพที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นออกแบบ ก่อสร้าง ไปจนถึงหลังลูกค้าเข้าอยู่อาศัย โดยใช้เป็นเครื่องมือร่วมกันของทีมออกแบบทุกฝ่าย เพื่อกำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบ และทดสอบคุณภาพในทุกขั้นตอน มีการตรวจอาคารอย่างสม่ำเสมอโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารยังคงคุณภาพ​MQDC Standard: มาตรฐานด้านโครงสร้าง​◾️ ออกแบบโครงสร้างให้รองรับแรงแผ่นดินไหว ตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย โดยพิจารณาตามลักษณะพื้นที่ก่อสร้าง เช่น สมุทรปราการซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล​◾️ เลือกใช้คอนกรีตคุณภาพสูง ไม่ผสม Fly Ash เพื่อให้ได้กำลังอัดและแรงดึงที่ดีกว่า ไม่ลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพวัสดุ​◾️ ถนนรอบโครงการและแนวฐานอาคารใช้เสาเข็มยาว รองรับการทรุดตัวของดิน และเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างโดยรวม​◾️ การต่อชนระหว่างผนังกับโครงสร้างหลักออกแบบให้ยืดหยุ่น โดยใช้วัสดุที่สามารถขยับตัวได้ รองรับแรงจากการเคลื่อนไหวของอาคารทั้งแนวตั้งและแนวนอน​◾️ แนวกำแพงกันดินใช้ระบบ Pile Wall แทน Sheet Pile ช่วยลดแรงดันดินที่ส่งผลโดยตรงกับผนังโครงสร้าง ช่วยให้โครงสร้างมั่นคงในระยะยาว​MQDC Standard: มาตรฐานด้านการออกแบบ​◾️ ออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้จริงและปลอดภัย เช่น การเลือกกระจกนิรภัยลามิเนตบริเวณกรอบหน้าต่างภายนอก ป้องกันการตกหล่นเมื่อแตก​◾️ การรวมระบบท่อไว้ใน Shaft รวม โดยไม่มีการเจาะพื้น ทำให้หากเกิดปัญหา เช่น น้ำรั่วจากแผ่นดินไหว ความเสียหายจะจำกัดในพื้นที่เล็ก และใช้ท่อไร้รอยต่อ PEX ที่ทนทานกว่าในจุดสำคัญ​◾️ ระบบ Floor Drain บริเวณโถงทางเดิน และเพิ่มความชันหน้าลิฟต์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น กรณีท่อรั่ว​◾️ สระว่ายน้ำออกแบบให้ใช้งานปลอดภัย มีรางระบายน้ำขนาดใหญ่ และเว้นระยะจากตัวอาคารเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการพลัดตก พร้อมเว้นพื้นที่ 2 เมตรโดยรอบสำหรับดูแลระบบระบายน้ำและซ่อมบำรุงได้สะดวก​MQDC Standard: มาตรฐานวัสดุก่อสร้าง​◾️ วัสดุที่ใช้ต้องผ่านการรับรองจากวิศวกรรมโครงสร้าง โยธา มอก. และวิศวกรรมสถาน​◾️ วัสดุงานสถาปัตย์ต้องได้มาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น TREES, WELL, LEED​◾️ การติดตั้งตามข้อกำหนดของผู้ผลิตโดยตรง เช่น การปูกระเบื้องต้องเว้นระยะตามที่แนะนำ ลดปัญหาโก่งตัว และวัสดุผนังห้องน้ำต้องเลือกติดตั้งให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันหลุดร่วง​◾️ ทีม Construction Management (CM) ตรวจสอบการติดตั้งทุกขั้นตอน เช่น การแขวนฝ้าเพดานให้ได้ระยะตามแบบ และใช้อุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อความแข็งแรงและปลอดภัย​MQDC Standard: มาตรฐานการทดสอบ​◾️ วัสดุโครงสร้างต้องผ่านการทดสอบจากมาตรฐานระดับสากล เช่น ACI, BSI, ASTM หรือเทียบเท่า​◾️ วัสดุอื่นๆ เช่น หน้าต่าง ต้องผ่านการทดสอบเรื่องการรั่วซึม อากาศ น้ำ ลม เสียง และความร้อน โดยอิงจากมาตรฐาน EN, JIS, ASTM, ANSI​◾️ อาคารสูงจะมีการทดสอบแรงลมด้วยอุโมงค์ลม เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถต้านทานแรงลมและแผ่นดินไหวได้​◾️ สร้าง Mock-up ขนาดจริง (1:1) เพื่อดูขั้นตอนการติดตั้งและประกอบจริง ทดสอบระบบ และแก้ไขปัญหาก่อนสร้างจริง ลดความผิดพลาดหน้างาน​นอกจากนี้ ยังมีการรับประกัน 30 ปี เป็นหลักประกันที่มอบความมั่นคงให้กับลูกบ้าน โดยครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ทั้งเรื่องโครงสร้างของอาคาร, การรั่วซึมของหลังคา, การรั่วของงานระบบท่อน้ำและไฟฟ้า และการใช้งานของประตู หน้าต่าง​MQDC Standard จึงเป็นความใส่ใจที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่เรื่องวัสดุหรือโครงสร้าง แต่ครอบคลุมถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และการอยู่อาศัยที่ดีในทุกมิติ​ เนื้อหาโดย ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส RISC

226 viewer

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที เห็นได้จากเหตุ “แผ่นดินไหว” เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา​จากเหตุการณ์ในวันนั้นเห็นได้ชัดว่า “การรับมือ” ล่วงหน้ามีผลอย่างมากต่อ “การอยู่รอด” ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ในด้าน “Living & Infrastructure” ในข้อย่อย “Incident & Disaster” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ด้านหลักของ Resilience "Shock & Stress" Framework​ ​ทีม RISC เราได้พัฒนา "Resilience Framework Toolkit" เป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักรู้ให้เห็นถึงภัยพิบัติและปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ​• Nature & Environment​• Living & Infrastructure ​• Society & Economy ​เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "Resilience Framework Toolkit" จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มองเห็น เข้าใจถึงปัญหา และคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และวางแผนการพัฒนาเมือง ให้พร้อมตั้งรับและปรับตัวอย่างถูกต้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ ทั้งในระดับอาคาร ระดับชุมชน และระดับเมือง​เรามาดูการนำ "Resilience Framework Toolkit" ไปใช้ในแต่ละมุมมองกัน สั่งซื้อ Resilience Framework Toolkit ได้แล้ววันนี้​✅RISC LINE Official : risc_center​ (ราคาเล่มละ 600 บาท รวมค่าส่ง)✅DTGO CAMPUS ตึก Empty Cup, RISC Office (ชั้น 2) และ Forget-Me-Not Shop (ชั้น 3) ​(https://maps.app.goo.gl/kGLM3YcccNysnMcW9)​(พิเศษ!! ซื้อและรับด้วยตัวเอง ลดเหลือราคาเล่มละ 500 บาท)

289 viewer

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

โดย RISC | 3 สัปดาห์ที่แล้ว

“ขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย”...ประโยคนี้มักเป็นข้อความฝากทิ้งท้ายหลังเหตุการณ์เลวร้ายเสมอ​เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในเมืองไทย จึงทำให้หลายภาคส่วนมักมองข้ามเรื่องสำคัญไป นั่นก็คือเรื่อง “โครงสร้างอาคาร”​โครงสร้างอาคารมีความสำคัญแค่ไหน? ยังไง?​ทำไมจึงต้องมีการรับประกันความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ในเมื่ออาคารโดยทั่วไปก็อยู่ได้เป็นร้อยปีอยู่แล้ว?​เชื่อว่าคำถามนี้ ได้รับคำตอบอย่างประจักษ์แล้ว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และนับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคนไทย และยังถือเป็นการพิสูจน์ผลงานด้านวิศวกรรมของวิศวกรโครงสร้าง และผู้รับเหมาก่อสร้างได้เป็นอย่างดี​การออกแบบ และการคำนวณโครงสร้างอาคารที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสูง รวมถึงศาสนสถาน และอาคารสาธารณะที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก จะถูกบังคับด้วยกฎหมายควบคุมอาคารตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้มีการคำนึงถึงการต้านทานแรงแผ่นดินไหว เช่น กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 ซึ่งได้ปรับปรุงจากปี พ.ศ.2550 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564​แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายของอาคารทั้งระดับเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่อาคารก่อสร้างใหม่ที่ทำตามกฎหมายฉบับใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อ "ทบทวนมาตรฐาน วิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก และหาข้อสรุปสำหรับการออกแบบอาคารใหม่" ต่อจากนี้ ว่าการอ้างอิงกฎหมายปัจจุบันยังเพียงพออยู่หรือไม่ หรือควรต้อง "ปรับปรุงมาตรฐานอย่างไร?" อีกทั้งสามารถพิสูจน์ "ประสิทธิภาพของการออกแบบ และรายการคำนวณโครงสร้าง" ก่อนการก่อสร้างจริงได้ด้วยการจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทดสอบในอุโมงค์ลม หรือเครื่องมือการทดสอบอื่นใดบ้าง นอกจากนี้ ควรมีบทพิจารณาทางกฎหมายถึงระดับของการออกแบบ และก่อสร้างเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น ตามการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ตั้งโครงการนั้นๆ หรือไม่ และอย่างไร?​รวมถึงในกรณีบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือตึกแถว ที่ไม่อยู่ในขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมาย จะสามารถปรับปรุงอาคารให้มีความปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร? อีกทั้งรายละเอียดการประกันโครงสร้างบ้านที่ระบุในพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร อันคุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายแก่โครงสร้างหลัก ได้แก่ เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังรับน้ำหนัก ที่ครอบคลุมเป็นระยะเวลาเพียง 5 ปี ตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์นั้น ควรต้องทบทวนเช่นเดียวกันใช่หรือไม่​แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะส่วนงานวิศวกรรมโครงสร้างเท่านั้นที่สำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร ในส่วนของมาตรฐานทางด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานระบบ ตลอดจนส่วนประกอบอาคารต่างๆ ควรต้องถูกนำกลับมาทบทวนด้วยเช่นกัน​​RISC ในบทบาทของผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและมีสุขภาวะที่ดี ขอยกตัวอย่างข้อพิจารณามาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้​1. กระจกอาคาร - ไม่ควรร่วงหล่นหากมีการแตกร้าวหรือเกิดการขยับตัวของโครงสร้างจากแรงแผ่นดินไหว อันก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน และกีดขวางเส้นทางการอพยพ และควรเลือกใช้กระจกลามิเนตสำหรับกระจกเปลือกอาคาร ประตู หน้าต่าง และราวกันตก อีกทั้งไม่ควรใช้วัสดุประตูกระจกบานเปลือย สำหรับประตูบานขนาดใหญ่เกินขนาดมาตรฐาน โดยเฉพาะในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานเป็นประจำ หรือรับแรงลมสูง​2. สระว่ายน้ำ - ควรมีราวกันตกสูงจากขอบสระอย่างน้อย 1.20 เมตร หรือมีระยะร่นห่างจากขอบอาคารอย่างน้อย 2.00 เมตร กรณีเป็นสระว่ายน้ำแบบไร้ขอบ (Infinity Pool) เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในสถานการณ์ปกติ ป้องกันวัตถุหรือคนพลัดตกจากอาคาร และป้องกันอันตรายต่อผู้คน และอาคารข้างเคียงจากน้ำล้นออกนอกสระเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน​3. ผนังภายในทั่วไป - หากมีการกรุทับด้วยวัสดุตกแต่ง หรือวอลเปเปอร์ ที่มักจะปิดกั้นความชื้น ปกปิดเชื้อรา และยังปกปิดรอยแตกร้าวด้วยเช่นกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจความเสียหายของโครงสร้าง และการรั่วซึมที่ผนัง​4. เฟอร์นิเจอร์และส่วนตกแต่งที่มีน้ำหนักมาก - สามารถล้มหรือร่วงหล่นได้ เช่น ตู้หนังสือ ตู้เก็บของ ควรมีการยึดติดแน่นเข้ากับพื้นหรือผนัง และมีการล็อคหน้าบานหรือราวกันตก ป้องกันสิ่งของที่อยู่ด้านในร่วงหล่น รวมถึงอุปกรณ์และส่วนตกแต่งที่มีโอกาสแกว่ง หรือไหวได้ เช่น โคมไฟ เครื่องปรับอากาศ ป้ายสัญลักษณ์ จะต้องมีจุดยึดที่แข็งแรง แน่นหนา​5. ประตูอาคารที่เป็นระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ - ที่นิยมใช้ในอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า ควรมีการออกแบบให้สามารถเปิดค้างไว้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และทำการทดสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ​6. งานระบบท่อน้ำไม่ควรฝังในโครงสร้าง - ที่ไม่สามารถตรวจสอบการรั่วซึม หรือสามารถซ่อมบำรุงได้ทันท่วงที อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาจมีการรั่วซึมหรือเกิดการชำรุดเสียหายของระบบท่อน้ำในอาคาร โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัย จึงควรออกแบบให้มีจุดระบายน้ำกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ เช่น ที่พื้นบริเวณทางเดินส่วนกลาง เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าห้องพักและห้องเครื่องลิฟต์​7. เส้นทางอพยพ ควรถูกกำหนดอย่างชัดเจน และจะต้องมั่นใจว่ามีไฟสำรองฉุกเฉินจ่ายมายังไฟแสงสว่าง และป้ายแสดงทางหนีไฟ เพื่อนำทางไปยังจุดรวมพลนอกอาคารได้ หากเหตุแผ่นดินไหวในช่วงกลางคืน หรือกระแสไฟฟ้าของอาคารถูกตัด ที่สำคัญคือต้องมีการประชาสัมพันธ์ และซักซ้อมการอพยพอย่างสม่ำเสมอ​8. ระบบเตือนภัย และพื้นที่หลบภัย - ที่เหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่พักรอการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่มีกฎหมายบังคับใช้สำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกอาคาร โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ​จากข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างมาตรฐานบางส่วนที่อาจเป็นประโยชน์กับอาคารอื่นๆ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม โดย RISC จะมุ่งมั่นศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และพัฒนาอาคารบ้านเรือนให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยมีประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง​บทเรียนจากแบบทดสอบสถานการณ์จริงในครั้งนี้ ถือเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับอาคารที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรืออาคารที่ยังไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการอยู่รอดจากการเกิดแผ่นดินไหว หากการตื่นตัวเป็นเพียงกระแสที่ผ่านมา และยังถูกปล่อยให้ผ่านเลยไป แผ่นดินไหวครั้งนี้คงจะไม่ใช่บทเรียนครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน​เพราะความปลอดภัย ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย และมาตรฐาน ไม่ได้มีไว้ต่อรอง ต้องพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด อย่างต่อเนื่อง​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่​กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0013.PDF​ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/275/T_0016.PDF​ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/293/T_0057.PDF​กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0019.PDF​พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543: ​https://download.asa.or.th/03media/04law/lsa/lsa43-upd02.pdf​ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร พ.ศ. 2545: ​https://www.dol.go.th/estate/DocLib18/scan0003.pdf​

732 viewer

"วัสดุก่อสร้างจากเถ้าชีวมวล" ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย RISC | 4 สัปดาห์ที่แล้ว

รู้หรือไม่ว่า การผลิตไฟฟ้า 1 MW ทำให้เกิด “เถ้าชีวมวล” ประมาณ 200-400 ตัน/ปี ​เถ้าชีวมวล หรือที่เรียกว่า Wood ash นั้นคืออะไร แล้วทำไมเราถึงต้องมาสนใจในเรื่องนี้?​เถ้าชีวมวล จัดเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นแหล่งเชื้อเพลิง ซึ่งชีวมวลแต่ละชนิดจะมีปริมาณเถ้าที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1-3% หากยิ่งผลิตไฟฟ้ามากเท่าไหร่...ก็ยิ่งเกิดเถ้าชีวมวลมากขึ้นเท่านั้น​ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 226 แห่ง และมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,110 MW ซึ่งเท่ากับว่ามีเถ้าชีวมวลเกิดขึ้นเกือบ 1 ล้านตันในแต่ละปี คำถามที่ตามมา...เราจะจัดการกับขยะเถ้าชีวมวลจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไรบ้าง?​เถ้าชีวมวลจัดเป็นของเสียอุตสาหกรรม จึงต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล การใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ การหมักทำปุ๋ยและสารปรับปรุงคุณภาพดิน หรือการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ​อย่างไรก็ตาม ปริมาณเถ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากเกินไป ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดที่สูง เถ้าชีวมวลปริมาณ 80,000 – 100,000 ตัน มีค่ากำจัดสูงถึง 10-15 ล้านบาท และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการกำจัด และเพิ่มมูลค่าให้กับเถ้าชีวมวลเหล่านี้ จึงมีการศึกษาและพัฒนาวัสดุก่อสร้างโดยใช้เถ้าชีวมวลเป็นส่วนประกอบ​“เถ้าชีวมวล” มีศักยภาพในการใช้เป็นวัสดุทดแทน “ปูนซีเมนต์” ในการผลิตวัสดุก่อสร้างได้จริงหรือ?​โดยทั่วไปแล้วปูนซีเมนต์เป็นวัสดุหลักในการผลิตคอนกรีต เนื่องจากปูนซีเมนต์สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำ หรือที่เรียกว่าปฏิกิริยาไฮรเดรชัน (Hydration) เกิดสารประกอบแคลเซียมซิลิเกตไฮเดรต (C-S-H) ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับคอนกรีต การใช้เถ้าชีวมวลแทนที่ปูนซีเมนต์จึงส่งผลต่อคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างมาก​เถ้าชีวมวลมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ในขณะที่มีปริมาณซิลิกา (SiO₂) อะลูมิน่า (Al₂O₃) และเหล็กออกไซด์ (Fe₂O₃) ต่ำ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาไฮรเดรชันลดลง อย่างไรก็ตาม SiO₂, Al₂O₃ หรือ Fe₂O₃ สามารถทำปฏิกิริยาปอซโซลาน (Pozzolanic Reaction) กับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)₂) เกิดเป็นสารประกอบ C-S-H ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มกำลังอัดของคอนกรีตในระยะยาวได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความทนทานต่อซัลเฟต กรด และการเกิดคราบขาวบริเวณผิวคอนกรีตได้​อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณเถ้าชีวมวลมากเกินไป ก็จะทำให้กำลังอัดของคอนกรีตลดลง เถ้าชีวมวลมีอนุภาคขนาดเล็ก และน้ำหนักเบากว่าปูนซีเมนต์ ทำให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบา รวมทั้งอนุภาคขนาดเล็กยังสามารถเติมเต็มช่องว่างภายในของคอนกรีตได้ นอกจากนี้ เถ้าชีวมวลยังมีรูพรุน และพื้นที่ผิวสูง ทำให้ดูดซึมน้ำได้ดี ส่งผลให้คอนกรีตที่ได้มีการดูดกลืนน้ำสูง และจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตเพื่อชดเชยน้ำบางส่วนที่ถูกดูดซึม​เราจะเห็นได้ว่า เถ้าชีวมวลส่งผลต่อคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างมาก โดยขึ้นอยู่กับชนิด องค์ประกอบทางเคมี และปริมาณของเถ้าชีวมวล การใช้เถ้าชีวมวลในการพัฒนาวัสดุก่อสร้างจึงเหมาะสมสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการความสามารถในการรับน้ำหนักสูง เช่น ขอบคันหิน วัสดุปูพื้น งานตกแต่งสวน หรือช่องระบายอากาศ โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมในการใช้เถ้าชีวมวลเป็นวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ คือ 10-30% โดยน้ำหนักของปูนซีเมนต์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณสมบัติของเถ้าชีวมวล องค์ประกอบของคอนกรีต และอัตราส่วนของผสม​อีกสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความโดดเด่นหรือจุดแข็งกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง ทั้งด้านรูปร่าง ความสวยงาม หรือมีฟังก์ชันการใช้งานพิเศษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material​อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. 2568. แผนที่แสดงที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย. ​ขวัญชีวา หยงสตาร์, นุอนันท์ คุระแก้ว, ชูเกียรติ ชูสกุล, และ สุนันท์ มนต์แก้ว. 2567. การพัฒนาอิฐบล็อกประสานจากฝุ่นหินเหลือทิ้งและเถ้าไม้ยางพารา. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (2567).​สาโรจน์ ดำรงศีล. 2550. ผลกระทบของปูนซีเมนต์ผสมเถ้าชานอ้อยและเถ้าลอยในลักษณะบดร่วมต่อคุณสมบัติทางกายภาพและเชิงกลของคอนกรีต. วารสารวิชาการและวิจัย มจธ. ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน (2550).​Ayobami A. B., 2021. Performance of wood bottom ash in cement-based applications and comparison with other selected ashes: Overview, Resources, Conservation and Recycling. 166, 105351.​

337 viewer

เลือก Light อย่างไร ให้ไร้รบกวน

โดย RISC | 4 สัปดาห์ที่แล้ว

“แสง” สิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา แสงจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตบนโลก​โดยแสงที่ตาเราสามารถมองเห็นจะอยู่ในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 400 - 700 นาโนเมตร นอกเหนือจากแสงที่ตามองเห็นแล้ว ก็ยังมีแสงประเภทอื่นๆ ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และรังสีอินฟราเรด (IR)​นอกจากแสงจะช่วยให้มองเห็น และดำรงชีวิตได้สะดวกขึ้นแล้ว แสงจากดวงอาทิตย์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ แสงยังถูกนำมาใช้ในเทคโนโลยีต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการแพทย์ การสื่อสาร หรือการคมนาคม​แม้ว่าแสงจะมีประโยชน์มากมาย แต่การใช้แสงไฟที่มากเกินไป หรือไม่เหมาะสมนั้น สามารถก่อให้เกิด “มลพิษทางแสง” (Light Pollution) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักถูกมองข้ามอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์​ปัญหานี้เกิดจากแสงไฟที่ฟุ้งกระจายเกินความจำเป็น อย่างเช่น แสงไฟจากถนน อาคารสูง และป้ายโฆษณาที่ส่องสว่างตลอดคืน มลพิษทางแสงเหล่านี้รบกวนพฤติกรรมในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ส่งผลให้สัตว์ป่าเสียสมดุลในการดำรงชีวิต เช่น นกอพยพที่บินผิดเส้นทาง เต่าทะเลที่หลงทิศทางจากแสงไฟตามแนวชายฝั่ง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาความมืดในการดำรงชีวิต ​เพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางแสงต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม เราจึงควรเลือกใช้แสงที่เหมาะสม โดยเฉพาะแสงที่ไม่รบกวนวงจรชีวิต และพฤติกรรมของสัตว์ในธรรมชาติ​จากรายงานวิจัย พบว่า แสงไฟที่เหมาะสมควรมีค่าอุณหภูมิสีสัมพันธ์ (Correlated Color Temperature, CCT) ไม่เกิน 3000 เคลวิน (K) มีค่าความยาวคลื่นโดยประมาณอยู่ที่ 600 - 700 นาโนเมตร ซึ่งให้แสงสีเหลืองอุ่น (Warm White) ที่สำคัญเราควรใช้ไฟที่มีทิศทางของแสงสว่างชัดเจน ไม่กระจายแสงหรือหันแสงไฟออกไปยังท้องฟ้า หรือพื้นที่ธรรมชาติที่มีสัตว์อาศัยอยู่ นอกจากนี้ เรายังสามารถช่วยลดมลพิษทางแสงได้ด้วยการปิดไฟที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเปิดไฟตลอดทั้งคืน หรือระบบตั้งเวลาปิด-เปิด เพื่อให้แสงทำงานเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น การใช้และการจัดการแสงอย่างเหมาะสมจึงสามารถช่วยลดมลพิษทางแสง และรักษาสมดุลของธรรมชาติให้ยั่งยืนได้ รวมถึงยังช่วยให้สิ่งมีชีวิตยังคงดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติในสภาพแวดล้อม​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​

324 viewer

อย่า “ชินชา” กับฝุ่น PM2.5 ภัยเงียบที่ต้องระวัง

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึก “ชินชา” กับการแจ้งเตือนเรื่องค่าฝุ่น เพราะมันเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ทั้งที่ในความเป็นจริง PM2.5 ยังคงแฝงภัยร้ายแรงไว้ในทุกลมหายใจ​ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งแบบนี้ ค่าฝุ่นมักเกินมาตรฐานรายวัน หรือบางพื้นที่ก็ยังเกินค่ารายปีอีกด้วย แม้ว่าต้นปีนี้ ระดับ PM2.5 โดยรวมทั่วประเทศจะอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีหลังสุด แต่...ในหลายจังหวัดยังมีวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งหมายความว่า สุขภาพของประชาชนก็ยังคงมีความเสี่ยง และไม่ควรมองข้าม​ MEI เปรียบเทียบกับค่า PM2.5 ของแต่ละภูมิภาค Multivariate ENSO Index Version 2 (MEI V.2) เป็นดัชนีปรากฎการณ์ ENSO หลายตัวแปร ซึ่งได้มีการ รวมตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและบรรยากาศมาใช้ใน การประเมินดัชนี ENSO ได้แก่ Sea level pressure (SLP), Sea surface temperature (SST), Surface zonal winds (U), Surface meridional winds (V) แ ล ะ Outgoing longwave radiation (OLR) ใช้เพื่อประเมินปรากฏการณ์เอลนีโญ (ค่า MEI เกิน 0) และลานีญา (ค่า MEI ต่ำกว่า 0) ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจาก PM2.5 นั้นไม่ได้เกิดทันที แต่จะค่อยๆ สะสม จนกระทั่งแสดงออกมาในรูปแบบของโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนใน กทม. หรือบางครั้งในจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย และพะเยา ที่มีระดับ PM2.5 รุนแรง อาจจะแสดงอาการเฉียบพลันในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง โรคตาอักเสบ​สาเหตุที่ค่าฝุ่น PM2.5 แปรผันในแต่ละปีเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ สภาพอุตุนิยมวิทยา และปริมาณการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด​ในแง่ของอุตุนิยมวิทยา ลมนั้นมีบทบาทสำคัญ ทั้งทิศทางและความเร็ว หากลมพัดแรงก็ช่วยเจือจางมลพิษได้ดี ในขณะที่ความสูงของชั้นบรรยากาศที่มลพิษสามารถแทรกตัวขึ้นไปได้ หรือที่เรียกว่า “ชั้นผสม” ก็มีผลโดยตรงต่อระดับของฝุ่น หากชั้นนี้ต่ำ มลพิษจะสะสมใกล้พื้นดินและค่าฝุ่นจะสูงขึ้น​อีกหนึ่งตัวแปร คือ ฝนและความชื้น ซึ่งมีบทบาทในการพาฝุ่นละอองตกลงสู่พื้นดิน ความชื้นสูง หรือฝนที่ตกหนักเพียงพอสามารถลด PM2.5 ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังลดโอกาสของการเกิดไฟไหม้ในที่โล่งที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่นในหลายภาคของประเทศ​ เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ ปัญหา PM2.5 ยังเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ระดับโลก อย่างเอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) ที่มีผลต่อรูปแบบฝนในประเทศไทย หากฝนตกมากจากลานีญา การเผาในที่โล่งก็จะลดลง แต่ถ้าแล้งจัดเพราะเอลนีโญ การเผาก็จะเพิ่มขึ้นทันที สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นนั้นเชื่อมโยงกับทั้งภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และกิจกรรมของมนุษย์ ​สำหรับในแต่ละภูมิภาคของไทย สาเหตุของฝุ่นก็แตกต่างกัน กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกมีแหล่งกำเนิดหลักจากการจราจร โรงงาน และโรงไฟฟ้า โดย PM2.5 จะสูงในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอุตุนิยมวิทยาสะสมมลพิษอากาศ และฤดูร้อนจะได้รับผลจากแหล่งกำเนิดการเผาในที่โล่งจากพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเสริมให้ระดับความเข้มข้นของฝุ่นรุนแรงมากยิ่งขึ้น​​ขณะที่ภาคเหนือ และอีสานจะได้รับผลกระทบจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่เกษตรและป่า โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ค่าฝุ่นสามารถสูงเกินค่ามาตรฐานได้ถึงสิบเท่าในช่วงฤดูร้อน สอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตร และยังได้รับอิทธิพลจากหมอกควันข้ามแดนที่ลอยข้ามประเทศมาอีกด้วย​ส่วนภาคใต้แม้จะมีระดับฝุ่นต่ำกว่าภาคอื่น เนื่องจากมีฤดูฝนยาวนาน และความชื้นสูง แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอ ในช่วงปลายปี ภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนเช่นกัน โดยเฉพาะจากการเผาในประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งฝุ่นสามารถเดินทางไกลข้ามทะเลได้นับพันกิโลเมตร​การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ได้ผลมากที่สุด คือ การแก้ที่ต้นเหตุ แต่เป็นแนวทางระยะยาวที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอใคร ก็คือ การป้องกันตัวเอง ซึ่งเป็นด่านแรกในการลดผลกระทบจากฝุ่น​หลักการง่ายๆ ที่ควรจำไว้เสมอคือ "ลดการสัมผัสฝุ่นให้ได้มากที่สุด", ติดตามค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน, ใช้หน้ากาก N95 เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง, หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง, ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรืออยู่ในพื้นที่ที่ปลอดฝุ่น​หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจในการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น แม้ว่าการป้องกันตนเองจะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่ก็เป็นวิธีที่ได้ผลทันที และช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของเราและคนที่เรารัก​PM2.5 เป็นภัยเงียบที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่ซึมลึกอยู่ในลมหายใจของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากเราเพิกเฉย หรือ “ชินชา” มันอาจกลายเป็นภัยที่สายเกินแก้​เนื้อหาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง ผู้ช่วยคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และคุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส แล Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC​

391 viewer

Photocatalytic Coating นวัตกรรมเคลือบผิววัสดุ เปลี่ยนมลพิษให้ดีต่อลมหายใจ

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

ปัญหา PM2.5 เป็นอีกปัญหาที่แม้สถานการณ์จะดูเบาบางลงในบางเวลา แต่ปัญหานี้จะยังคงอยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร?​ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่าขนาดเส้นผมของคนเราถึง 30 เท่า สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก และคอ ทำให้หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก และหากได้รับอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง​นอกจากนี้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) จัดให้มลพิษทางอากาศ (Outdoor Air Pollution) และฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่ม 1 (Carcinogenic to Humans) หรือก็คือสารที่มีหลักฐานเพียงพอว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และยังพบอีกว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอด​โดยปกติ เราจะป้องกันตัวเองจาก PM2.5 จากการสวมหน้ากาก N95 หรือใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีไส้กรอง HEPA (H10 – H14) ซึ่งสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ตั้งแต่ 85% - 99.995%​ แต่รู้หรือไม่ ว่ามีวัสดุอาคารบางชนิดที่ช่วงลดฝุ่นได้ด้วยเหมือนกัน​ Photocatalytic coating หรือการเคลือบผิววัสดุด้วยสารเคลือบที่มีคุณสมบัติในการเร่งปฏิกิริยาเมื่อได้รับแสง ซึ่งมักใช้ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) เป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อไทเทเนียมไดออกไซด์ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้เกิดการถ่ายโอนอิเล็กตรอนบริเวณพื้นผิววัสดุ ทำให้เกิดไฮดรอกซิลเรดิคัล (OH·) และซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออนเรดิคัล (O2-·) ซึ่งสามารถสลายมลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นละออง แก๊ส แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราบนพื้นผิว เปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพ และจากงานวิจัยพบว่า ไทเทเนียมไดออกไซด์สามารถย่อยสลายคาร์บอนในฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 92% พร้อมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้สามารถลดผลกระทบอันตรายจาก PM2.5 ได้จริง​ปัจจุบันสารเคลือบ Photocatalyst ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุก่อสร้างหลายชนิด เช่น กระจก หลังคา หรือผสมลงในสีทาบ้าน ไม่เพียงแค่ช่วยทำความสะอาดพื้นผิวตัวเอง ลดการสะสมของฝุ่นและมลพิษในอากาศ ยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคและเชื้อราแล้ว ยังช่วยลดอุณหภูมิของอาคารได้อีกด้วย ทำให้เป็นการลดการใช้พลังงานของอาคารได้อีกทางหนึ่ง ​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​IARC Monographs. Outdoor Air Quality Volume 109​ดร.พิบูลย์ จินาวัฒน์. วัสดุก่อสร้างโฟโต้คะตาลิสท์. การประชุมวิชาการระดบชาติ “สถาปัตย์กระบวนทัศน์” พ.ศ.2558​Misawa K, Sekine Y, Kusukubo Y, Sohara K. Photocatalytic degradation of atmospheric fine particulate matter (PM2.5) collected on TiO2 supporting quartz fibre filter. Environ Technol. 2020 Apr;41(10):1266-1274.

359 viewer

พื้นที่สีเขียวคือหัวใจของชีวิตที่ดีขึ้น

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

รู้หรือไม่ ใน 1 ปีต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่บนพื้นที่ 1 เอเคอร์ หรือ 4,050 ตารางเมตร หรือ 2.53 ไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่ากับปริมาณที่รถยนต์ปล่อยออกมาเมื่อขับเป็นระยะทาง 26,000 ไมล์ หรือ 41,842 กิโลเมตร​อย่างที่เรารู้กันว่า การที่เราใช้เวลากับต้นไม้ เราจะได้ประโยชน์มากมาย ตั้งแต่การลดความเครียดไปจนถึงการเพิ่มความสามารถในการรับรู้ ต้นไม้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และในปัจจุบัน การขยายและพัฒนาของชุมชนเมือง ทำให้ต้นไม้มีความสำคัญ และได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่...​1. ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉง: เพราะเมืองที่มีต้นไม้ และภูมิทัศน์สีเขียวมากขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพื้นที่สาธารณะ และสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นมากขึ้น เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย และกิจกรรมกลางแจ้งแก่ประชาชน อย่างเช่น การเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือการเล่นกีฬาในพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน ทำให้เกิดสังคมที่มีความสามัคคีและปลอดภัย อีกทั้ง การออกแบบพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมโยงกับทางเดินและเส้นทางจักรยานก็ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพอากาศ และลดปัญหาจราจรติดขัดในเมืองได้อีกด้วย​2. สุขภาวะทางกายภาพ และการลดความเครียด: การใช้เวลาในพื้นที่สีเขียว อย่างการอาบป่า (Forest Bathing) ช่วยรักษาระดับความดันโลหิต และสร้างความรู้สึกสงบ หรือในแง่ของเมือง พนักงานออฟฟิศที่สามารถมองเห็นต้นไม้จากที่ทำงาน รายงานที่ระบุไว้ว่า จะมีระดับความเครียดต่ำกว่าและมีความพึงพอใจในงานมากขึ้น นอกจากนี้ ต้นไม้สามารถลดอุณหภูมิพื้นผิวลงได้มากถึง 12°C ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ซึ่งงานวิจัยของ Forest Research ในสหราชอาณาจักรพบว่า การไปเยี่ยมชมป่าช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิต และอาจช่วยประหยัดงบประมาณของ NHS (ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร) ได้ถึง 185 ล้านปอนด์ต่อปีในการรักษาผู้ป่วย​3. เสริมสร้างสุขภาพทางอารมณ์และพัฒนาการด้านสติปัญญา: ธรรมชาติมีส่วนช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า และวิตกกังวล โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน แม้ใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีในพื้นที่สีเขียวก็อาจส่งผลดีต่อสุขภาพจิตได้ นอกจากนี้ การใช้เวลากับธรรมชาติยังช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแก้ปัญหา ทำให้คนมีสมาธิ และประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ยังมีการศึกษาในเด็กพบว่า การเล่นและเรียนรู้ในพื้นที่สีเขียวช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญา ทำให้มีความสามารถในการจดจำ และคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้น อีกทั้ง การเดินเล่นในสวน หรือป่าธรรมชาติยังช่วยให้สมองได้พักจากสิ่งเร้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้นในระยะยาว​4. สร้างชุมชนที่ปลอดภัยขึ้น: พื้นที่ที่มีต้นไม้น้อยมักมีอัตราความรุนแรง และอาชญากรรมสูงกว่าพื้นที่ที่มีต้นไม้หนาแน่น ต้นไม้และภูมิทัศน์สีเขียวยังสามารถช่วยลดความกลัว และส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชนได้ อีกทั้ง การมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการดูแลอย่างดี ยังทำให้ผู้คนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเฝ้าระวังตามธรรมชาติของชุมชน ช่วยลดโอกาสในการเกิดอาชญากรรม เช่น การโจรกรรมและการทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ ต้นไม้ที่ปลูกริมถนนยังสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะช่วยลดระดับมลพิษที่อยู่ใกล้บริเวณนั้นลงได้มากกว่า 50% ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ยังช่วยลดมลภาวะทางเสียงจากการจราจร และกิจกรรมในเมือง ทำให้ชุมชนมีบรรยากาศที่สงบ และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น​จะเห็นได้ว่าต้นไม้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศและน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ส่งเสริมความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน และสนับสนุนสุขภาพโดยรวม นอกจากนี้ ต้นไม้ยังเป็นทางออกที่คุ้มค่าต่อการรับมือกับผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และอุทกภัย การตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ไม่เพียงช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังสร้างชุมชนที่มีสุขภาพดี ปลอดภัย และมีชีวิตชีวายิ่งขึ้นอีกด้วย​เนื้อหาโดย คุณ วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C และ WELL AP​อ้างอิงข้อมูลจาก​1. TreePeople Organization. (n.d.). 22 benefits of trees. Retrieved from https://treepeople.org/22-benefits-of-trees/​2. Harvard T.H. Chan School of Public Health. (2021). The health benefits of trees. Retrieved from https://hsph.harvard.edu/news/the-health-benefits-of-trees/​3. Arbor Day Foundation. (n.d.). The value of trees. Retrieved from https://www.arborday.org/value​4. NHS Forest. (n.d.). Why do humans need trees for health? here's what you.... Retrieved from https://nhsforest.org/blog/humans-need-trees-for-health/​5. Savatree. (n.d.). The importance of trees - learn value and benefit of trees. Retrieved from https://savatree.com/resource-center/tree-varieties/why-trees/​6. Immerse yourself in a forest for better health. Retrieved from https://dec.ny.gov/nature/forests-trees/immerse-yourself-for-better-health

343 viewer

ฤดูฝุ่นแบบนี้ ต้นไม้อะไรช่วยดักจับฝุ่นให้เราได้เยอะบ้าง?

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

ช่วงฤดูฝุ่นแบบนี้ เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ และเครื่องฟอกอากาศในหลายๆ บ้าน คงทำงานหนักมากๆ แต่...รู้หรือไม่ นอกจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำงานหนักไม่แพ้กัน​เพราะฮีโร่จากธรรมชาติอย่างต้นไม้ ก็รับบทเครื่องกรองฝุ่นอยู่ด้วยเช่นกัน​ลักษณะทางกายภาพของใบไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ใบมีขน ผิวใบขรุขระ ผิวใบมัน รวมถึงต้นไม้ที่มีใบเยอะ หรือมีกิ่งก้านที่ซับซ้อน จะช่วยในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 และดูดซับมลพิษผ่านทางปากใบในขณะที่ต้นไม้ทำการสังเคราะห์แสง ​ผลจากงานวิจัยการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปด้วยพืชในอาคาร จากการทดสอบพืชทั้งหมด 16 ชนิด โดยปล่อยควันธูปในกล่องทดลองที่มีพืชในอาคาร 1 ต้นเป็นเวลา 30 นาที เปรียบเทียบกับกล่องทดลองเปล่าที่ไม่มีต้นไม้ พบว่า ต้นกวักมรกตมีความสามารถในการดักจับ PM2.5 ได้มากที่สุด คือร้อยละ 30.87 รองลงมาคือต้นลิ้นมังกร อยู่ที่ร้อยละ 23.70​ในขณะที่งานวิจัยโดย รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร ได้ทดลองต้นไม้ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450-500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่า ต้นพรมกำมะหยี่ลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 และต้นลิ้นมังกรลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ซึ่งต้นไม้เหล่านี้เป็นกลุ่มไม้ประดับสามารถเลือกปลูกในอาคาร หรือนำไปปลูกที่หน้าต่างเพื่อดักอากาศก่อนที่ลมจะพัดพาเข้าบ้านได้​แต่หากพื้นที่บ้านใครยังพอมีที่ว่างด้านนอกอาคารก็สามารถออกแบบสวนให้ช่วยในการลดฝุ่นได้เช่นกัน​อย่างทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่สวนต้นแบบที่มีการใช้ไม้ยืนต้นเพื่อลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งสวนนี้เลียนแบบระบบนิเวศที่ต้นไม้ต้องมีความหลากหลาย และใช้ศักยภาพของแต่ละต้นที่แตกต่างกันไป โดยเลือกต้นไม้ที่มีความสูง 3 ระดับ คือ​- ไม้ขนาดใหญ่ เช่น ราชพฤกษ์ ประดู่บ้าน และพิกุล​- ไม้ขนาดกลาง เช่น โมก และไทร​- ไม้พุ่มคลุมดิน เช่น ต้นหมาก ต้นเดหลี ต้นพลูปีกนก ต้นกวักมรกต ต้นคล้ากาเหว่าลาย ต้นคล้าแววมยุรา ต้นคล้านกยูง​ซึ่งการปลูกไม้ 3 ระดับนั้น ก็เพื่อเป็นแนวกันชนในการกำบังฝุ่น และควรปลูกอย่างน้อย 2 ชั้น โดยชั้นที่หนึ่งที่ปะทะลมให้ปลูกไม้พุ่มขนาดเล็ก และแถวที่สองปลูกไม้พุ่มขนาดกลางสลับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นการใช้ต้นไม้ดักลมให้อากาศเคลื่อนที่ช้าลง และทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้นจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กในอากาศให้เคลื่อนที่ลดลง และควรรดน้ำต้นไม้บริเวณนั้นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อล้างใบ และเพิ่มความชื้นในดิน ซึ่งการจัดเรียงต้นไม้อย่างเหมาะสมนี้จะช่วยกำบังฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 20-60 เลยทีเดียว​เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​กันติทัต ทับสุวรรณ, ศิรเดช สุริต. (2564). การดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปด้วยพืชในอาคาร. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ. 6(12); 80-93. ​ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร. (2565). การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน Sustainable PM Phytoremediation by Perennials Plants. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ​

377 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา