RISC

มีสัตว์หน้าดินอะไรบ้าง? ในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมือง

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

1759 viewer

จากบทความก่อนหน้านี้ เราได้รู้จักสัตว์หน้าดิน สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไปแล้ว (https://bit.ly/3NZDt5F) สำหรับบทความนี้ เราจะมาดูผลการศึกษาสัตว์หน้าดินบริเวณพื้นที่สีเขียวของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองกัน​

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ได้ร่วมมือกับทางภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา และคณะ ได้ศึกษาความหลากหลายของสัตว์หน้าดินบริเวณพื้นที่สีเขียวในอาคาร (Indoor green area), พื้นที่ภูมิทัศน์โครงการที่มีการดูแลปกติ (Landscape green area), พื้นที่สีเขียวแบบป่านิเวศ (Eco-Forest) และพื้นที่หลังคาเขียวแบบอาศัยการดูแลน้อย (Extensive Green Roof) โดยเก็บตัวอย่างดินไปศึกษาระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2565​

จากการศึกษาเราพบสัตว์หน้าดินอย่างมด แมลงหางดีด และไรเป็นส่วนใหญ่ และยังมีสัตว์หน้าดินบางชนิดที่พบได้ในบางพื้นที่อย่างตัวกะปิ แมลงสองง่าม กิ้งกือ และตะขาบ ซึ่งการที่พบแมลงหางดีดและไรในพื้นที่สีเขียว เป็นตัวบ่งบอกที่ดีได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์​

โดยแต่ละพื้นที่มีความหลากชนิดของสัตว์หน้าดินแตกต่างกัน จากการเปรีบบเทียบค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของ Shannon-Wiener Index Diversity ของแต่ละพื้นที่ด้วยการสำรวจทางพืชพรรณและสัตว์ ซึ่งพบว่า บริเวณพื้นที่หลังคาเขียวมีความหลากหลายต่ำ อาจเป็นเพราะพื้นที่นี้อยู่บนอาคารและมีชั้นดินตื้น ในส่วนของพื้นที่ภูมิทัศน์โครงการที่มีการดูแลปกติ มีความหลากหลายค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากมีการนำเศษใบไม้ออกเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง ทำให้อาหารของสัตว์หน้าดินมีปริมาณน้อยลง ส่วนบริเวณป่านิเวศจะมีความหลากหลายที่ค่อนข้างสูง อาจเพราะมีการจำลองระบบนิเวศป่าไม้ตามธรรมชาติ จึงทำให้มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์หน้าดิน ​

แต่มีข้อมูลหนึ่งที่ทำให้ทีมนักวิจัยสนใจ คือ บริเวณพื้นที่สีเขียวในอาคารกลับมีความหลากชนิดสูงที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางทีมนักวิจัยยังคงต้องหาเหตุผลต่อไป โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับปัจจัยสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ เช่น คุณสมบัติดิน ความชื้นในแต่ละบริเวณ หรือแม้แต่การจัดการพื้นที่ ​

เราจะเห็นได้ว่า จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง แต่ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุมชนเมืองต่อไป​

เนื้อหาโดย คุณ ศตายุ ปานจินดา นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
Crossley, D.A., Mueller, B.R. and Perdue, J.C. 1992. Biotic Diversity in Agroecosystems Biodiversity of microarthropods in agricultural soils: relations to processes. Agriculture, Ecosystems and Environment 40: 37-46.​

แนะนำสำหรับคุณ