ยังไม่สาย หากจะรักษา "ความหลากหลายทางชีวภาพ"
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
ในทุกๆ ปี โลกของเราจะมีสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ราว 10,000 ชนิด หรือคิดเป็นอัตรา 1,000 เท่า เมื่อเทียบตามธรรมชาติ โดยในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า จะมีพืชประมาณ 34,000 ชนิด และสัตว์อีก 5,200 ชนิด (เป็นนกถึง 1 ใน 8) ที่กำลังเผชิญกับภาวะสูญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นอัตราที่กำลังวิกฤต โดยปัจจุบันอันดับการสูญพันธุ์ของสัตว์ดังกล่าว ได้แก่ สัตว์ 5 ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เร็วที่สุดในโลก คือ เสือดาวอามูร์, แรดดำ, อุรังอุตังบอร์เนียว, กอริลลาครอสริเวอร์ และช้างสุมาตรา
หากเราคิดว่าการสูญพันธุ์เป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การคิดแบบนั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่...ในอัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ย่อมไม่ส่งผลดีเป็นอย่างแน่ และเราต้องยอมรับว่า ตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ “มนุษย์” คือ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของสังคมเมือง การรุกล้ำของมนุษย์ที่นำไปสู่การทำลายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการปล่อยของเสียและมลพิษ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลก ไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity หรือ Biodiversity) คำนี้ ถ้าใครติดตามงานของ RISC จะได้ยินอยู่เป็นประจำ งั้นเรามารู้จัก “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ให้ลึกซึ้งกว่านี้กันซักหน่อย
ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนผืนโลก และรูปแบบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น
และมักจะถูกเข้าใจว่าเป็นเพียงแค่ความหลากหลายของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังรวมถึงสัตว์ขนาดเล็ก แบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนระบบนิเวศ และความแตกต่างของพันธุกรรมในแต่ละสายพันธุ์ได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันมีการศึกษาและจำแนกสิ่งมีชีวิตทั่วโลกไปแล้วประมาณ 1.75 ล้านชนิด ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาได้จากกระบวนการวิวัฒนาการที่ยาวนานนับพันล้านปี และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศ
แล้วถ้าความหลากหลายทางชีวภาพพังทลายลงจะเกิดอะไรขึ้น?
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จะส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศ ทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของมนุษย์ และระบบเศรฐกิจ เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นองค์ประกอบของปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอาหารและความมั่นคงในการดำรงชีวิต ผลผลิตมากมายที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมทั้งอุปโภคและบริโภค การนำมาเป็นยารักษาโรค การให้บริการของระบบนิเวศทั้งในเรื่องการป้องกันภัยพิบัติต่างๆทางธรรมชาติ การควบคุมจัดการสัตว์และแมลงรบกวน ไปจนถึงการช่วยในการบำบัดมลพิษ กรองของเสีย ซึ่งยากที่มนุษย์จะสร้างหรือหาสิ่งใดมาทดแทนความสามารถของธรรมชาติได้
และเมื่อสำคัญขนาดนี้ จึงทำให้ในปี ค.ศ.1992 ได้มีการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ทำให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมและลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และได้ประกาศวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี ให้เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (IDB: International Day for Biological Diversity) โดยมีจุดประสงค์ในการเพิ่มความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมีวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม โดยในปี ค.ศ 2023 ได้มีหัวข้อว่า “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” ที่มาจากข้อตกลง Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework ให้ทั่วโลกได้นำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็ว
ซึ่งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ภายใต้ MQDC ได้ตระหนักถึงการกระทำของมนุษย์์ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีการดำเนินงานศึกษาวิจัยในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเขตเมือง ร่วมกับสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ และให้คงอยู่คู่โลกนี้อย่างยั่งยืนต่อๆ ไป
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC และ คุณ พุทธิพงศ์ ธีระแนว นักศึกษาฝึกงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.un.org/en/observances/biological-diversity-day
https://www.unesco.org/en/days/biological-diversity
https://www.cbd.int/idb/#:~:text=The%20United%20Nations%20has%20proclaimed,and%20awareness%20of%20biodiversity%20issues.
https://education.nationalgeographic.org/resource/international-day-biodiversity/
https://www.bbc.com/thai/international-44236663