รู้หรือไม่ว่าในสิ่งมีชีวิตก็มี Social Distance เหมือนกันนะ
เขียนบทความโดย RISC | 5 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ในปัจจุบันเริ่มเป็นมาตรการที่หลายๆประเทศนำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งหมายถึง การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน (mass gatherings) และการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ – Centers for Disease Control and Prevention: CDC) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สามารถกระจายถึงกันได้
ในต้นไม้ก็มี ปรากฏการณ์ต้นไม้ขี้อาย (Crown Shyness) คือ การเกิดช่องว่างเกิดขึ้นตามธรรมชาติระหว่างเรือนยอดไม้ เป็นปรากฏการณ์ที่เรือนยอดของต้นไม้ที่มีความสูงใกล้เคียงกัน เว้นระยะห่างระหว่างเรือนยอดในแต่ละต้น ทำให้เกิดช่องว่างที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้น ณ บริเวณที่มีพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกัน และมีความสูงใกล้เคียงกัน โดยนักวิทยาศาสตร์มีข้อสันนิษฐานถึงการเกิดปรากฎการณ์ต้นไม้ขี้อายนี้อยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่
1. อิทธิพลของลม พายุ และฝนทำให้ส่วนที่กิ่งก้านที่ยื่นออกมาถูกกระแทกเสียดสีกันจนเกิดเป็นช่องว่างขึ้นมา
2. เกิดจากการที่ต้นไม้เว้นช่องว่างระหว่างกัน เพื่อลดการแพร่กระจายของแมลงที่เป็นอันตรายไปยังต้นอื่นๆ
3. เพื่อให้ต้นไม้ด้านล่างโดยเฉพาะลูกไม้เกิดใหม่ได้รับแสงอย่างเหมาะสม และเพื่อให้สามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่ก็ทำให้เราได้รู้จักว่าจริงๆแล้ว ธรรมชาติอยู่รอบตัวเราและมีบางอย่างที่คล้ายกับเราอยู่ หากครั้งหน้าไปเดินตามสวนสาธารณะหรือไปเดินป่า อย่าลืมที่จะแหงนหน้ามองไปที่ยอดไม้ เพื่อพบกับการเว้นระยะห่างทางสังคมของต้นไม้กันนะคะ
ผู้เขียน/เรียบเรียง: กชกร รัตนมา, นักวิจัย RISC