สัตว์เลี้ยงของเรา พยากรณ์อากาศได้
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
โพสต์ก่อนหน้านี้ เราพูดถึง “มด” แมลงนักพยากรณ์กันไปแล้ว (https://bit.ly/442ml4Z) แต่วันนี้เราจะมาดูสัตว์ชนิดอื่น โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวเรา อย่างสัตว์เลี้ยงทั้งน้องหมาและน้องแมวกัน
เริ่มที่น้องแมวกันก่อนเลย แมวเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสที่ไวต่อเสียงและกลิ่นต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งในหูชั้นในของแมวนั้นสามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของความดันชั้นบรรยากาศที่ลดลง หรือก็คือช่วงที่ฝนกำลังจะตกนั่นเอง จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของแมว ส่วนใหญ่แล้วจะพบว่า หากวันไหนที่พบว่าแมวนอนยืดเหยียดอย่างสบายใจ นั่นแสดงว่าอากาศวันนั้นจะแจ่มใสตลอดวัน แต่หากพบว่าน้องแมวมีพฤติกรรมทำความสะอาดหู มองเหม่อออกไปนอกหน้าต่างนานๆ ทำจมูกฟุดฟิด หรือจามแล้วล่ะก็...ส่วนใหญ่มักจะมีฝนตก หรือกำลังจะมีพายุเข้า
มาต่อกันที่น้องหมาบ้าง การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ความกดอากาศมีผลต่อการรับรู้ของสุนัขโดยตรง ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาตินั่นเอง โดยสุนัขสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของประจุไฟฟ้า และความกดอากาศได้จากการใช้จมูกดมในอากาศ นอกจากนี้หากอุณหภูมิร้อน เราจะพบว่าสุนัขจะหายใจแรง อ้าปาก แลบลิ้น เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย แต่เมื่อเข้าสู่หน้าฝนหรือหน้าหนาว สุนัขก็จะดูซึม ไม่อยากอาหาร ระบบเผาผลาญไม่ดี ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น บางรายอาจจะเป็นโรค Seasonal Affective Disorder (โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล) เช่นเดียวกับคนเลย
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย เพนน์ สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุไว้ว่า ในขณะมีพายุฝนหรือน้องหมาได้ยินเสียงฟ้าร้อง จะมีการเพิ่มขึ้นของคอร์ติซอล (Cortisol) ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงาน มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นความเครียด และความสับสนกระวนกระวาย
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมจากสัตว์เลี้ยง ที่สามารถบอกถึงสภาพอากาศในขณะนั้นได้ หวังว่าเมื่อเราสังเกตเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ ก็จะเข้าใจเหล่าสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น และที่สำคัญ การสังเกตของผู้เลี้ยงอย่างเราบางครั้งก็สามารถช่วยให้เห็นพฤติกรรมที่จะเป็นจุดกำเนิดของโรคภัยไข้เจ็บ หรือพฤติกรรมที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจและหมั่นระมัดระวังแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นมาก็จะทำให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทัน
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.lifematewellness.com
http://www.veterinarypartner.com
http://dogcare.dailypuppy.com