เข้าหน้าฝนนี้ มาเรียนรู้ สู้ยุงร้ายกัน
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
หากจะพูดถึงสัตว์ที่ใครหลายคนไม่ปลื้ม และรู้สึกรำคาญทุกครั้งที่เจอ เชื่อว่า “ยุง” คงติดอยู่ในอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนแบบนี้
ยิ่งจำนวนประชากรของคนเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ เมืองก็ยิ่งขยายตัว (Urbanization) มากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่ามันต้องแลกกับพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายลงเรื่อยๆ ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดขาดแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร จนจำนวนของสัตว์เหล่านั้นลดลงต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน สัตว์ที่ไม่พึงประสงค์อย่าง “ยุง” สามารถเพิ่มจำนวนได้ดีขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมในเขตเมืองช่วยให้มีแหล่งเพาะเลี้ยงตัวอ่อน แถมยังมีแหล่งอาหารอย่างเหลือเฟือ นั่นคือ เลือดของเราและสัตว์เลี้ยงต่างๆ นั่นเอง
ยุง (Mosquito) เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกแต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีวงจรชีวิตเริ่มจากระยะไข่ (Egg), ลูกน้ำ (Larva), ตัวโม่ง (Pupa) และกลายเป็นยุงตัวโตเต็มวัย (Adult) โดยหลังจากลอกคราบออกจากระยะตัวโม่ง ยุงตัวเต็มวัยทั้งเพศผู้และเพศเมียจะกินน้ำหวานจากดอกไม้หรือต้นไม้เป็นอาหาร แต่พอยุงมีอายุประมาณ 2-3 วัน ยุงเพศเมียจะกินเลือด เพื่อนำเอาโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ไปใช้ในการเจริญเติบโตของไข่หลังจากผสมพันธุ์
ลักษณะนิสัยของการกินเลือดของยุงนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า ยุงนั้นเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคหรือปรสิตต่างๆ อย่างเช่น ยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย (Malaria) ซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อ Plasmodium จากยุงก้นปล่อง, ยุงลาย (Aedes) เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก (Dengue fever) ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Dengue ที่มากับยุงลาย โดยโรคเหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งนั้น
มาถึงตรงนี้หลายคนคงตั้งคำถามกันแล้วว่า ในเมื่อเป็นสัตว์ที่อันตรายทำไมเราไม่หาวิธีกำจัดให้หมดไปจากโลกของเรา...?
การกำจัดยุงให้หมดนอกจากจะยากแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ เป็นการ "ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ" ภาพใหญ่อีกด้วย เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ยุงก็เป็นอาหารของสัตว์อีกหลากหลายชนิด หากขาดไป สัตว์บางชนิดอาจจะลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไปอีกด้วย ดังนั้น วิธีที่เหมาะสมนั่นก็คือ “การควบคุมและลดจำนวนประชากรของยุง” เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี อย่างเช่น การดูแลภาชนะน้ำขังตามบ้านเรือนเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ การใส่ทรายอะเบทลงไปในภาชนะที่มีน้ำ หรือการใช้สารเคมี เช่น สารกันยุงพ่นเคลือบตามวัสดุของใช้ แต่การใช้สารเคมีก็มีผลเสียหลายด้าน ทั้งทำให้วิวัฒนาการของยุงทนต่อสารเคมีมากขึ้น ได้ผลในระยะสั้น แถมยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จริงๆ แล้วการจะลดจำนวนยุงนั้น ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่ง RISC อยากแนะนำนั่นก็คือ “การใช้การควบคุมทางชีวภาพ (Biocontrol)” โดยเราสามารถทำได้หลายวิธี อย่างเช่น การเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ เพื่อการกำจัดไข่ ลูกน้ำ รวมไปถึงตัวโม่งของยุง หรือแม้แต่การสร้างระบบนิเวศให้เหมาะสมกับแมลงปอ (Dragonfly) เพราะตัวอ่อนของแมลงปอที่อาศัยอยู่ในน้ำจะกินลูกน้ำหรือตัวโม่งเป็นอาหาร ในขณะที่พอเป็นตัวเต็มวัยก็ยังสามารถล่ายุงตัวเต็มวัยเป็นอาหารอีกด้วย
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC และ คุณ เอเซีย เล็กกุล นิสิตฝึกงานภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิงข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง. 2561. แนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเขตเมือง [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1080520201216080456.pdf [20 ธันวาคม 2564]
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2564. ยุง (MOSQUITOES). [ออนไลน์].แหล่งที่มา: https://w1.med.cmu.ac.th/parasite/ความรู้เกี่ยวกับโรคปรส/7319/ [20 ธันวาคม 2564]
Benelli, G., Jeffries, C. and Walker, T. 2016. Biological control of mosquito vectors: Past, present, and future. Insects. 7: 52. doi: 10.3390/insects7040052