RISC

เชื้อราซอมบี้ (Cordyceps) มีจริงหรือไม่?

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

3403 viewer

เมื่อพูดถึงซีรีส์ที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ชื่อของ The Last of Us คงจะไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ เพราะนอกจากความดราม่าในเนื้อเรื่องแล้ว สิ่งที่หลายคนคงอยากรู้คือ “เชื้อรา” ในเรื่องมันมีจริงหรือไม่?​

The Last of Us เป็นซีรีส์ที่ทำมาจากเกมยอดฮิตที่ได้กวาดรางวัล Game of the Year มาจากหลายสำนัก โดยเนื้อหาจะพูดถึงชายคนหนึ่งที่เสียลูกสาวกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องออกผจญภัยในโลกที่ล่มสลาย ท่ามกลางคนที่ไม่หวังดีและฝูงซอมบี้ที่ถูกเชื้อราเข้าควบคุม นั่นก็คือ “เชื้อราซอมบี้” หรือ “เชื้อรา Cordyceps”​

เชื้อรา Cordyceps เป็นเชื้อราที่มีอยู่จริงในโลกของเรา และที่มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 400 สายพันธุ์ (บางประเทศมีรายงานมากถึง 80 สายพันธุ์) โดยมีการศึกษาอย่างแพร่หลายว่าเชื้อรากลุ่มนี้เป็นเชื้อที่ก่อโรคในกลุ่มของแมลง แต่ไม่ส่งผลกับคนแต่อย่างใด อย่างเช่น มด ผึ้ง ต่อ แตน แมงมุม แมลงปอ หรือผีเสื้อ เมื่อเหล่าแมลงเหล่านี้ได้สัมผัสกับสปอร์ของเชื้อรา Cordyceps ในอากาศผ่านระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อราจะเริ่มสร้างเส้นใย ขยายอาณาเขตเข้าไปปกคลุมทั่วร่างกายของแมลง จนถึงขั้นเจริญเติบโตและใช้แมลงผู้โชคร้ายเหล่านั้นเป็นบ้านและแหล่งอาหาร​

ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยคือ เชื้อราที่ก่อโรคในมด (Cordyceps Unilateralis) จะเข้าไปควบคุมระบบประสาทสมองที่ทำให้มดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับรู้สารฟีโรโมนเพื่อออกจากฝูงไปยังยอดไม้สูงๆ และตรึงตัวเองกับยอดไม้ ขณะเดียวกันเชื้อราจะค่อยๆ ควบคุมมดมากขึ้น เจริญเติบโตขึ้น โดยที่มดไม่สามารถควบคุมตัวเองได้จนตายไป แล้วหลังจากนั้นเชื้อราก็จะแพร่ขยายพันธุ์สปอร์ราไปในอากาศต่อไป นอกจากนี้ ก็ยังมีเชื้อราที่ก่อโรคในตัวอ่อนของหนอนผีเสื้อกลางคืน (Cordyceps Militaris) หรือที่เรารู้จักกันอย่างดีว่า “ถั่งเช่า” และเชื้อราที่ก่อโรคในจักจั่น (Cordyceps Sobolifer) ที่คนไทยนิยมนำมาเป็นเครื่องรางของขลังอย่าง “ว่านจักจั่น”​

ยังมีเชื้อราซอมบี้ หรือ เชื้อรา Cordyceps อีกมากมายที่เราต้องศึกษาอีกมาก ซึ่งปัจจุบันในเมืองไทยเริ่มมีการศึกษาสารออกฤทธิ์ทั้งโทษและสรรพคุณในการรักษาโรคของเชื้อราในกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ หากเราพบเจอในธรรมชาติ ห้ามนำไปรับประทานหรือประกอบอาหารโดยเด็ดขาด เพราะกลุ่มที่เราเจออาจจะไม่ใช่กลุ่มที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย​

เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
สมศักดิ์ ศิวิชัย. (2544). เชื้อราทําลายแมลง. ชีวปริทรรศน์ 3(3): 9-12. ​
นิลาวัลย์ สุระป้อง และประไพรัตน์ สีพลไกร (2561). สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา Cordyceps ที่เก็บในประเทศไทย Bioactive compounds from Cordyceps fungi collected in Thailand. วารสารวิทยาศาสตร์ มข. ปีที่ 46 เล่มที่ 2. หน้า 186-200.