แม้อยู่ในดิน แต่ฉันก็สำคัญนะ!!
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
เวลาที่เราออกไปใช้พื้นที่สีเขียวในที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เรามักจะสนใจกับเหล่านก กระรอก ผีเสื้อ ผึ้ง หรือบรรดาสัตว์ที่สะดุดตา ซึ่งแน่นอน เรารู้หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นว่าทำอะไรบ้างให้กับระบบนิเวศ แต่...รู้หรือไม่ ว่าจริงๆ แล้วยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อีกมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น และกำลังทำหน้าที่ยิ่งใหญ่อยู่ด้วย?
สิ่งมีชีวิตที่ว่าก็คือ “สัตว์หน้าดิน” หรือ “Soil Fauna” สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สังเกตได้ยากหรือมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อาศัยอยู่บริเวณผิวดิน หน้าดิน หรือในพื้นดิน
เริ่มแรกเรามาลองทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดนี้กัน
สัตว์หน้าดินนั้นจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ โดยยึดจากขนาดความยาวของลำตัว ได้แก่...
• Macrofauna (>2.0 มิลลิเมตร) เช่น มด (Ant) ปลวก (Termite)
• Mesofauna (0.1 – 2.0 มิลลิเมตร) เช่น ไร (Mite) แมลงสองง่าม (Earwig) แมลงสามง่าม (Silverfish)
• Microfauna (<0.1 มิลลิเมตร) เช่น โรติเฟอร์ (Rotifer) โปรโตซัว (Protozoa)
หรืออาจแบ่งตามลักษณะการกินอาหาร ได้แก่ กลุ่มผู้ล่า (Predator) กลุ่มกัดกินใบไม้ (Shredder) กลุ่มผู้ย่อยสลาย (Decomposer) และกลุ่มบริโภคพืช (Herbivore) ก็ได้
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า สัตว์หน้าดินมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก โดยทำหน้าที่เป็นผู้บริโภคในระบบนิเวศ ช่วยสนับสนุนผู้ย่อยสลายให้ย่อยสารอินทรีย์ได้ดีขึ้น เพิ่มการหมุนเวียนอากาศและสสารในดิน ส่งผลให้เกิดสายใยอาหาร (Food Web) และทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง หรือสรุปแบบให้เข้าใจง่ายๆ สัตว์หน้าดินถือเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Bio-Indicator) ที่บอกถึงความสมบูรณ์ของดินได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้สัตว์หน้าดินจะเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ แต่ก็สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศให้คงอยู่ได้ และในตอนถัดไปเราจะพาทุกคนไปรู้จักกับสัตว์หน้าดินบริเวณพื้นที่สีเขียวลักษณะต่างๆ ของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่อไป
เนื้อหาโดย คุณ ศตายุ ปานจินดา นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
จิรากรณ์ คชเสนี. 2553. นิเวศวิทยาพื้นฐาน. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Carrillo, Y., Ball, B. A., Bradford, M. A., Jordan, C. F. and Molina, M. 2011. Soil fauna alter the effects of litter composition on nitrogen cycling in a mineral soil. Soil Biology and Biochemistry. 43(7): 1440–1449. https://doi.org/10.1016/j.soilbio.2011.03.011
Nielsen, U. N. 2019. Soil fauna assemblages: Global to local scales. Cambridge University Press.
Swift, M. J., Anderson, J. M. and Heal, O. W. 1979. Decomposition in terrestrial ecosystems. Berkeley: University of California Press.