RISC

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของนักพัฒนา

เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

2648 viewer

การมีชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ต้องหายใจ ต้องการบริโภคและอุปโภคปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีวิต นับได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรของโลกอยู่ทุกวินาที

โดยเฉพาะหากเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยแล้ว ยิ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เรา MQDC ได้ตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อทรัพยากรโลกจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การโยกย้ายภูเขาหินเพื่อสร้างแท่นคอนกรีตขนาดใหญ่ การตัดไม้เพื่อเปลี่ยนเป็นวัสดุก่อสร้างอาคาร การผลิตขยะจากกระบวนการก่อสร้าง อีกทั้งก่อให้เกิดมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ ทุกกิจกรรมล้วนเป็นการทำลายสิ่งเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ แล้วเราในฐานะนักพัฒนาควรแสดงความรับผิดชอบและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวัฏจักรการก่อสร้างนี้อย่างไร

ด้วยความโชคดีของคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้เป็นแรงบันดาลใจสูงสุด เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน ผู้อุทิศชีวิตเพื่อส่วนรวม ทั้งยังให้หลักคิดทฤษฎีในการปฏิบัติแก่ประชาชน ซึ่งหลักคิดที่พระองค์ท่านทรงดำริและพระราชทานให้พวกเรานั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์และบริบทของสังคมที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม ดังเช่น หลักองค์ความรู้ 6 มิติ 

หลักการองค์ความรู้ใน 6 มิติ เป็นหลักในการจัดการและพัฒนาชุมชนโดยปรับน้ำหนักของมิติตามสภาพภูมิสังคมและสภาพปัญหาของชุมชนในแต่ละพื้นที่ มิติขององค์ความรู้ ได้แก่

1) น้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การเก็บน้ำให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด และการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2) ดิน การป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องของสภาพดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การปลูกหญ้าแฝก

3) เกษตร การนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแต่ละพื้นที่ ตามแต่ละวิถีชีวิตความเป็นอยู่

4) พลังงานทดแทน การปรับใช้พลังงานและส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและชุมชนนั้นๆ โดยการคิดค้นและพัฒนาพลังงานที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

5) ป่า การลดการตัดไม้ทำลายป่า การส่งเสริมการปลูกป่าในรูปแบบต่างๆ เช่น การปลูกป่าต้นน้ำ การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก และการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือปลูกไม้พออยู่ ไม้พอกิน และไม้พอใช้ สำหรับประโยชน์ที่สี่คือการอนุรักษ์ดินและน้ำ

6) สิ่งแวดล้อม การนำแนวทางการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

จะเห็นได้ว่า ทุกมิติขององค์ความรู้ที่ทรงดำริ ล้วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรทั้งมวลที่เราพึ่งพาอาศัย การที่ต้องเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูจึงเป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐานเพื่อการดำรงอยู่รอด ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่มิติขององค์ความรู้ แต่ต้องมีความเข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้ และเข้าถึงด้วยการสื่อสารและสร้างความมีส่วนร่วม จึงจะพัฒนาแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็นและยั่งยืน

MQDC ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้น้อมนำแนวคิดการพัฒนา รวมถึงการรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และส่วนรวม เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาโครงการขององค์กร โดยมีแนวคิดหลัก คือ การคิดเพื่อทุกสรรพสิ่ง “For All Well-Being” ได้แก่

Absolute world care การดูแลใส่ใจต่อโลก ลดการเสียสมดุลย์ทางธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติให้มากที่สุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

Ultimate loving community การคำนึงถึงความสัมพันธ์ต่อชุมชนโดยรอบ ทุกโครงการที่เราไปสร้างต้องทำให้พื้นที่โดยรอบดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อชุมชน

Boundless life-quality design การออกแบบโดยคำนึงถึงความสบาย ความปลอดภัย คุณภาพอากาศ และความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาอย่างอนุรักษ์ คือสำนึกของความรับผิดชอบ นโยบายจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้เมื่อคนในองค์กรเล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ เสมือนการปลูกป่า ที่ทรงพระราชทานแนวคิดว่า จะปลูกป่าได้ต้องเริ่มที่ปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน

แน่นอนว่า ด้วยแนวคิดขององค์กรเดียว อาจยังไม่สัมฤทธิ์ผลในวงกว้าง แต่เรา MQDC จะยืนหยัดสร้างความเปลี่ยนแปลง แสดงความรับผิดชอบ และขยายวงความคิดให้กว้างออกไป โดยไม่ย่อท้ออย่างสุดกำลัง และในทุกครั้งที่คิดว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว ขอให้รำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ แล้วย้อนกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า เราทำเต็มที่แล้วหรือยัง

 

สริธร อมรจารุชิต (Saritorn Amornjaruchit)

ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation)

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (กลุ่มบริษัท ดีที)