RISC

"ป่าชายเลน" พื้นที่สำคัญของโลก ที่กำลังหายไป

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

3648 viewer

“ป่าชายเลน” พื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือแม้แต่พืชด้วยกันเอง แต่ปัจจุบันกลับลดจำนวนเหลือเพียง 2.86 ล้านไร่เท่านั้น

ป่าชายเลน มักพบในพื้นที่ที่เป็นดินเลน น้ำกร่อยหรือน้ำทะเลท่วมถึง ตามปากแม่น้ำ ทะเลสาบ ชายฝั่งทะเล พบได้ในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดของประเทศไทย คือ จังหวัดพังงา สตูล กระบี่ และตรัง อย่างป่าชุมชนชายเลนธรรมชาติของไทยที่เรารู้จักกันดี ก็มีที่บางขุนเทียน บางกระเจ้า หรือที่ทุ่งโปรงทอง

ระบบนิเวศในป่าชายเลน "กลุ่มสังคมพืช" ที่พบจะมีความแตกต่างกับพืชจากป่าบนบก โดยพืชจะมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เนื่องจากสภาพดินมีสารอินทรีย์ที่สะสมจากซากพืชซากสัตว์และมีสารอาหารสูง บวกกับน้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับน้ำทะเล แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงของความเค็มอยู่ตลอดเวลาจากอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง

ส่วน "กลุ่มสัตว์" ที่พบในป่าชายเลนก็มีความแตกต่างจากสัตว์ในป่าบกด้วยเช่นกัน โดยสัตว์ในป่าชายเลนจะมีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากสภาพของป่ายชายเลนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ด้วยอุณหภูมิของดินเลนที่สูง ปริมาณของออกซิเจนในดินค่อนข้างต่ำ และมีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ สัตว์ในพื้นที่จึงมักเป็นจำพวกสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อย่างกุ้ง หอย ปู ที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนโดยใช้เป็นแหล่งวางไข่ และอนุบาลตัวอ่อน

ป่าชายเลนยังมีความสำคัญอีกหลายด้าน ทั้งเป็นแนวป้องกันพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะ เป็นแนวกำบังคลื่นลมจากกระแสน้ำและพายุในธรรมชาติ รวมถึงเป็นพื้นที่สีเขียวที่ช่วยดูดซับคาร์บอนอีกด้วย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของไทยกลับมีแนวโน้มลดลงทุกปี จากการลุกล้ำพื้นที่ ตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศจากการฝีมือของมนุษย์...ถึงเวลาตั้งคำถามให้ตัวเองหรือยัง ว่าเราจะเริ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน หรือจะเลือกปล่อยให้ทุกอย่างพังทลาย จนส่งผลกับลูกหลานของเราในอนาคต

เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมป่าไม้: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนะนำสำหรับคุณ