RISC

สถานการณ์ PM2.5 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร? มาเช็คกันหน่อย

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

3443 viewer

รู้มั้ยครับ? ว่าในแต่ละปีมีกี่วันที่เรามีอากาศดีๆ ได้หายใจ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในบ้านเรามีปริมาณที่สูงอยู่ทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ซึ่งสาเหตุก็มีมากมายทั้งจากถูกพัดพามาจากประเทศเพื่อนบ้านและถูกกักอยู่ในพื้นที่ หรือแม้แต่เกิดจากฝีมือของเราด้วยกันเอง

แต่ในช่วง 2 ปีหลัง (พ.ศ.2563 – 2564) กลับพบว่าปริมาณฝุ่นลดลงและหายไปเร็วกว่าปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งอาจมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นมีน้อยลง เช่น การจราจรที่เบาบางลง การก่อสร้างอาคารต่างๆ ที่ต้องหยุดพักไป อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากมาตรการป้องกันการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม หรือการกำหนดโซนในการเผาตามช่วงเวลาที่ต่างกัน แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ฝุ่นในบ้านเราจะไม่มี

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางสถิติจาก Air Quality Historical Data Platform ของหน่วยงาน World Air Quality Index (WAQI) เรากลับพบว่า ใน 1 ปี (365 วัน) จำนวนวันที่มีอากาศดีเฉลี่ยทั้งวันในกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดมาตรฐานค่า PM2.5 ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ) มีสถิติแต่ละปีตามนี้...
- ปี พ.ศ.2564 มีทั้งสิ้น 84 วัน​
- ปี พ.ศ. 2563 มีทั้งสิ้น 62 วัน​
- ปี พ.ศ.2562 มีทั้งสิ้น 29 วัน​
- ปี พ.ศ.2561 มีทั้งสิ้น 17 วัน​
- ปี พ.ศ.2560 มีทั้งสิ้น 6 วัน​

จะเห็นได้ชัดเลยว่า เรามีอากาศที่ดีหายใจเพียง 2-8% ของทั้งปีในช่วงเวลาปกติ และช่วงคนทำงานที่บ้านทำให้อากาศที่ดีขึ้นเป็น 23% ของทั้งปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เราตระหนักว่า ภัยพิบัติทางอากาศยังคงอยู่ และมันจะกลับมาหนักขึ้นเมื่อประเทศเปิดอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้จากข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า วันที่มีอากาศดีส่วนใหญ่แล้วเกิดในช่วงฤดูฝน มีความชื้นสัมพัทธ์สูง และน้ำฝนที่มากพอจะสามารถชำระฝุ่นในพื้นที่ลงไปได้

เช่นเดียวกับหอฟอกอากาศฟ้าใส (FAHSAI) หนึ่งในความพยายามของ RISC ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการบำบัดอากาศ แม้จะไม่สามารถบรรเทามลภาวะได้ทุกพื้นที่ทั่วทั้งฟ้า แต่ก็สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe zone) ให้ทุกๆ คนกลับมาใช้ชีวิตในวันที่ฝุ่นหนักๆ ได้ ซึ่งในอนาคต RISC ยังคงตั้งใจจะสร้างนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อบำบัดอากาศต่อไป เป็นเหมือนวิตามินเสริมให้กับโลก และสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต​

เพื่อนๆ สามารถสืบค้นสถิติสภาพอากาศทั้งในประเทศและทั่วโลกได้ที่ https://aqicn.org/data-platform/register/​

1. คลิก link เพื่อเข้าสู่หน้าเว็บ​
2. เลื่อนไปที่ Enter the name of a station แล้วพิมพ์ชื่อเมืองที่ต้องการเช็คคุณภาพอากาศ (เช่น Bangkok, Chiang Mai)​
3. รอสักครู่จนกว่าจะมีตารางคุณภาพอากาศปรากฏ​

เนื้อหาโดย ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC ​