RISC

3 ต้นไม้ปลูกในบ้านลดฝุ่นและสารพิษ

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

10190 viewer

เรามารู้จักต้นไม้ที่ช่วยดูดซับฝุ่นและสารพิษกัน​

เรารู้กันอยู่แล้วว่า ต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงกลางวันและปล่อยออกซิเจนออกมาในระหว่างการสังเคราะห์แสงของพืช และกลับกันในช่วงเวลากลางคืนต้นไม้จะคายคาร์บอนไดออกไซด์และดูดออกซิเจนเข้าไปใช้ จนทำให้หลายคนกังวลว่า หากปลูกต้นไม้ในบ้านหรือในห้องนอนอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี​

แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะมีต้นไม้ภายในห้องหรือไม่มี ห้องก็ควรมีการระบายอากาศที่ดี นั่นก็เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์หายใจออกมามีมากกว่าที่ต้นไม้คายออกมาเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในห้องนอนที่เปิดใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งต้องปิดห้องให้มิดชิดก็ยิ่งมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นอ่อนเพลียหรือปวดศีรษะ​

แล้วต้นไม้แบบไหน...ที่เราควรเลือกปลูกในบ้าน?​

การเลือกต้นไม้ปลูกภายในบ้าน ควรเลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมคุณภาพอากาศ และดูดซับสารพิษที่มาจากเครื่องใช้ภายในบ้านได้ โดยลักษณะของต้นไม้ที่มักมีคุณสมบัติช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่จะสามารถสังเกตได้จากลักษณะของใบ เช่น ใบมีขน ผิวใบขรุขระ ผิวใบมัน ต้นไม้ที่มีใบเยอะ หรือมีกิ่งก้านที่ซับซ้อน ซึ่งลักษณะทางกายภาพดังกล่าวจะช่วยในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 และดูดซับมลพิษผ่านทางปากใบในขณะที่ต้นไม้ทำการสังเคราะห์แสง​

ไม่เพียงแค่เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก ต้นไม้บางชนิดยังสามารถช่วยดูดซับสารพิษอื่นๆ ในอากาศได้ อย่างเช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compound หรือ VOCs), ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde), เบนซีน (Benzene), และโทลูอีน (Toluene) ซึ่งสารพิษเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดมาจากสี กาว สเปรย์ เครื่องสำอางและน้ำหอม เคมีภัณฑ์ หรือสารที่เกิดจากเผาไหม้ นอกจากนี้ การเลือกต้นไม้มาปลูกในอาคาร ก็ควรเลือกต้นไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมแบบในอาคาร หรือก็คือต้นไม้ที่ต้องการแสงน้อยด้วยเช่นกัน​

RISC ขอแนะนำต้นไม้ 3 ชนิดที่ได้ทดลองปลูกภายในศูนย์วิจัยฯ ของเรา ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์ไม้นี้เป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงน้อย ทนต่อสภาพอากาศภายในอาคารได้ดี และมีคุณสมบัติช่วยลดมลพิษในอากาศได้ครบถ้วนตามข้อมูลก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ...​
• พรมกำมะหยี่ จัดเป็นไม้คลุมดิน มีผิวสัมผัสใบคล้ายกำมะหยี่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยในการจับฝุ่นได้ดี เพราะมีขนบนใบ และใบหยาบ​
• กวักมรกต มีผิวใบมัน เป็น Hydrophobic Wax เคลือบผิวอยู่ ลักษณะคล้ายๆกับการที่เราเห็นหยดน้ำบนใบบัว จึงทำให้ดักจับมลพิษได้ดี​
• ลิ้นมังกร เป็นพืชประเภทอวบน้ำ ซึ่งกำลังมีการศึกษาว่านั่นเป็นคุณสมบัติที่ช่วยในการดักสารพิษหรือไม่​

ในศูนย์วิจัย RISC ยังมีต้นไม้ที่ทำการทดลองวิจัยอีกจำนวนมาก หากใครต้องการข้อมูลพืชบำบัดอากาศเพิ่มเติม สามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ https://www.risc.in.th/plants​

เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC​