RISC

ตอนนี้คนไทยเรามีความสุขแค่ไหน

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

2591 viewer

 

เมื่อพูดถึงเทศกาลปีใหม่ เราจะรู้กันว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุข…แต่ตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสารพัดปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ระดับความสุขของคนไทยตอนนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง? มาหาคำตอบกัน
ในทุกๆ ปีองค์การสหประชาชาติ (UN) จะมีการรายงานผล World Happiness Report (WHR) ซึ่งเป็นการจัดอันดับคะแนนความสุข (Happiness score) ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,000 รายต่อประเทศต่อปี ว่ามีความสุขมากน้อยเพียงใด (Subjective well-being) โดยคะแนนความสุขจะวัดจากปัจจัยหลัก 6 อย่าง คือ
- รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) ​
- การได้รับการสนับสนุนทางสังคม รวมถึงญาติหรือเพื่อน (Social support) ​
- อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ณ แรกเกิด (Healthy life expectancy at birth) ​
- เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต (Freedom to make life choices) ​
- ความเอื้ออารีในสังคม (Generosity) ​
- การรับรู้ต่อการทุจริตในสังคม ซึ่งหมายถึงการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (Perceptions of corruption)​
ซึ่งข้อมูลล่าสุด คะแนนความสุขของคนไทยนั้น อยู่ในอันดับที่ 54 จาก 149 ประเทศ โดยมีค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2561-2563 อยู่ที่ 5.97 คะแนน ลดลงจากช่วงปี 2552-2554 ซึ่งอยู่ที่ 6.12 คะแนน ​
ส่วนในบ้านเราก็มีการวัดคะแนนความสุขด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจระดับสุขภาพจิต (ความสุข) ในปี 2563 พบว่า… ​
- คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยของผู้ชายนั้นดีกว่าผู้หญิง​
- คนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีระดับสุขภาพจิตสูงที่สุด ในขณะที่วัย 15-64 ปี มีระดับสุขภาพจิตความสุขน้อยที่สุด​
- คนที่มีสถานภาพสมรส มีระดับสุขภาพจิตที่ดีสุด ส่วนคนที่แยกกันอยู่หรือหย่ามีระดับสุขภาพจิตน้อยที่สุดตามลำดับ​
- คนที่อยู่ภาคเหนือระดับสุขภาพจิตสูงที่สุด ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีระดับต่ำสุด​
และยังพบอีกว่า คนที่อยู่คนเดียว มีแนวโน้มระดับสุขภาพจิตน้อยกว่าคนที่ในบ้านอยู่กันหลายคนอีกด้วย
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้ต้องการให้ "หดหู่" ไปกับการที่รู้ว่าคนไทยเรามีความสุขน้อยลง แต่อยากให้เราทุกคนนำมาใช้สำรวจตัวเราเอง เหมือนเป็นการ "ตรวจสุขภาพทางใจ" เพื่อเข้าใจ ตั้งรับ และหาทางสร้างความสุขให้ตัวเราเองได้ จริงอยู่การจะมีความสุขนั้น ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างรอบตัวตามที่ World Happiness Report (WHR) ระบุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ตัวเราเอง” เนี่ยแหล่ะ ที่สามารถสร้างความสุขได้ จากผลงานวิจัยต่างๆ ที่ช่วยลดความไม่สบายใจ วิตกกังวล ความเครียดได้ ขอนำมาสรุปเป็นวิธีง่ายๆ 3 อย่าง คือ... ​
- การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อน หรือคนในครอบครัวมากขึ้น การได้พูดคุย แบ่งปันความรู้สึกและให้กำลังใจกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้พูดคุยหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีความสุขด้วยแล้ว จะเกิดการถ่ายทอดความสุขไปยังคนรอบข้างได้มากถึง 15% ​
- การอยู่กับธรรมชาติ การออกไปสัมผัสธรรมชาติก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ประสาทสัมผัสของเราได้รับรู้และผ่อนคลาย ทั้งจากเสียงต้นไม้ นก น้ำไหล ลมพัด แสงธรรมชาติที่กระตุ้นระบบประสาท สร้างความสมดุลในสมอง ส่งผลต่ออารมณ์ รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ในบ้านเราเองด้วย ​
- การออกกำลังกายที่มีการใช้กล้ามเนื้อ การออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเอนดอร์ฟีน หรือ "ฮอร์โมนแห่งความสุข" และการออกกำลังกายแบบที่มีการใช้กล้ามเนื้อ จะช่วยให้การทำงานของสมองทั้งในส่วนการคิด การจำ การพูด การมองเห็น-ได้ยิน และความรู้สึกดีขึ้นอีกด้วย และยังเป็นการสร้างสมดุลฮอร์โมนต่างๆ ของเราดีขึ้น ​
เราจะเห็นว่า 3 วิธีนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เราได้ลองเริ่มทำดู ซึ่งเชื่อว่าเราจะได้พบกับความสุขอย่างแน่นอน และสุดท้ายนี้ RISC ขอเป็นกำลังใจและขอให้ทุกคนมีความสุขรับเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้กัน
เนื้อเรื่องโดย ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย RISC​
อ้างอิงข้อมูลจาก Economic Intelligence Center (EIC), World Happiness Report(WHR) 2021, สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) ปี 2563
 

แนะนำสำหรับคุณ